จตุรงคเสนา

          จตุรงคเสนา คือ รูปแบบการจัดกำลังกองทัพไทยแต่โบราณตามตำราพิไชยสงคราม  สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒ อักษร ข-จ อธิบายว่า ลักษณะกองทัพไทยสมัยโบราณมีเพียงกำลังทางบก ส่วนกำลังทางเรือนั้นใช้ทหารบกเป็นทั้งฝีพายและพลรบ โดยได้รับแบบอย่างมาจากตำราพิไชยสงครามฮินดูโบราณ ซึ่งกำหนดกำลังทัพออกเป็น ๔ เหล่า เรียกว่า จตุรงคเสนา ประกอบด้วย เหล่าพลช้าง (ทหารช้าง) เหล่าพลม้า (ทหารม้า) เหล่าพลรถ (ทหารรถ) และเหล่าพลราบ (ทหารราบ) รวมทั้งหมดจำนวน ๙ กอง ในแต่ละกองต้องประกอบด้วยพลรบหน่วยต้นจำนวนอย่างน้อย คือ รถ ๑ ช้าง ๑ ม้า ๓ และพลราบ ๕  แล้วเพิ่มจำนวนพลอีก ๓ เท่าในกองต่อ ๆ ไปเป็นลำดับจนถึงกองที่ ๘ และเพิ่มเป็น ๑๐ เท่าสำหรับกองที่ ๙ ซึ่งจำนวนพลรบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็น

          การจัดกำลังพลในจตุรงคเสนาของไทยนั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีจำนวนกองช้าง ๓ ช้าง คนประจำ ๓๖ คน  กองม้า ๓ ม้า คนประจำ ๙ คน  กองรถ ๓ คัน คนประจำ ๑๒ คน  และพลเดินเท้าพร้อมอาวุธ ๓๒ คน ซึ่งในหมู่พลเดินเท้านี้จะต้องมีพลช่างรวมอยู่ด้วย เพื่อทำหน้าที่ขุดคู สร้างประตูค่าย หอรบ สะพาน และพลับพลาที่ประทับ แบ่งออกเป็น ๗ แผนก คือ แผนกพล แผนกช่าง แผนกทาง แผนกม้า แผนกเรือ แผนกอาวุธ และแผนกตำหนัก

          การจัดกำลังกองทัพตามแบบจตุรงคเสนาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการฝึกหัดทหารแบบใหม่และยุทธวิธีตามแบบตะวันตกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  จตุรงคเสนายกเลิกไปเมื่อมีการจัดตั้งกองทหารแบบใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตั้งกรมยุทธนาธิการบังคับบัญชากรมทหารบก ๗ กรม คือ ทหารกรมช้าง ทหารปืนใหญ่ ทหารหน้า ทหารล้อมวัง ทหารรักษาพระองค์ ทหารมหาดเล็ก และทหารฝีพาย รวมทั้งทหารเรืออีก ๒ กรม คือ ทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี และทหารเรือรบ.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน