จตุลังคบาท

          ผู้ที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คงจะจำได้ว่า เวลามีการรบกันบนหลังช้าง ที่เท้าช้างทั้ง ๔ เท้า จะมีทหารถืออาวุธประจำอยู่ ทหารเหล่านี้เรียกว่า จตุลังคบาท  สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒ อธิบายว่า จตุลังคบาท คือ ทหารสังกัดในกรมพระตำรวจ (เป็นหน่วยราชการทหาร ไม่ใช่ตำรวจเหมือนปัจจุบัน) ทำหน้าที่อยู่ประจำรักษาเท้าช้างทั้ง ๔ เท้าในเวลาสงคราม ส่วนในยามปรกติ ทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิด

          ในการทำสงครามสมัยก่อน ช้างเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญ เพราะใช้เป็นพาหนะในการขนส่งเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ และเป็นพาหนะสำหรับทำการรบบนหลังช้าง ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี  ในสมัยโบราณการขี่ช้างเพื่อทำการรบถือเป็นศาสตร์ชั้นสูง เรียกว่า ตำราพระคชศาสตร์ ผู้ที่จะร่ำเรียนตำรานี้ได้จะต้องอยู่ในตระกูลขัตติยะ หรือตระกูลขุนนางที่รับราชการในกรมช้างเท่านั้น

          การรบกันด้วยกองทัพช้างนั้น ช้างทรงของจอมทัพจะต้องมีกลางช้าง ท้ายช้าง และจตุลังคบาทประจำเท้าช้าง ๔ คน ซึ่งผู้ที่จะเป็นจตุลังคบาทนี้ต้องเป็นคนที่มีความสามารถมากและเป็นนายทหารระดับสูง ตัวอย่างเช่น ช้างพระที่นั่งเจ้าพระยาไชยานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี มีจตุลังคบาท คือ พระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ประจำเท้าหน้าขวา  พระมหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ประจำเท้าหน้าซ้าย  หลวงอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ประจำเท้าหลังขวา และหลวงพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ประจำเท้าหลังซ้าย  ต่อมา เมื่อเลิกทำสงครามด้วยช้างแล้ว เจ้ากรมพระตำรวจทั้ง ๔ ไม่ต้องเป็นจตุลังคบาท แต่ยังต้องตามเสด็จและทำหน้าที่รักษาพระองค์ใกล้ชิด ซึ่งในปัจจุบันก็คือตำรวจหลวงนั่นเอง.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน