จรวด

          ในเทศกาลรื่นเริงหลาย ๆ เทศกาล  มักมีการเล่นดอกไม้ไฟกันเพื่อเฉลิมฉลองหรือเพื่อความสนุกสนาน ดอกไม้ไฟหลายชนิดมีหน้าตาแปลก ๆ  ทำเลียนแบบลักษณะท่าทางของสัตว์ เช่น ผึ้ง งู   และมีบางชนิดที่ทำเป็นจรวดและทะยานขึ้นฟ้าได้  ทราบหรือไม่คะว่า นอกจากที่เราเรียกกันว่าจรวดแล้ว ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกด้วย   สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๘  อธิบายไว้ว่า

          จรวด เป็นดอกไม้ไฟชนิดพุ่งขึ้นสูง มีหาง เรียกกันเป็นสามัญว่า กรวด  ในคำประพันธ์ใช้ว่า ตรวด ก็มี  ซึ่งจรวดหรือกรวดชนิดสำหรับจุดเล่นนั้น  ทำด้วยไม้อ้อ  บรรจุดินดำไว้ข้างใน  ตอกจนแน่น  ข้างหนึ่งเจาะรูชนวนไว้  มีหางยาวประมาณ ๒-๓ เท่าของตัวจรวด  เมื่อจุด ไฟจะพุ่งออกทางรูชนวน ถีบตัวให้จรวดพุ่งปราดขึ้นสู่อากาศ  พอหมดกำลังก็กลับตกลงมาสู่พื้นดิน

          ยังมีกรวดหรือจรวดอีกชนิดหนึ่ง เป็นชนิดใหญ่  มีขนาดเท่าเสาเรือนย่อม ๆ หางก็ยาวมาก  เมื่อจุดพุ่งขึ้นไปในอากาศมีเสียงดังเพราะมีกระบอกไม้ขนาดเล็กบากปาก เรียกว่า ลูกกรวด มีขนาดสั้นยาวไล่กันไป  ผูกมัดไว้รอบตัวกรวด เพื่อให้มีเสียงดังไล่กันเป็นหลายเสียงในขณะแล่นแหวกอากาศ

          กรวดหรือจรวดนี้ ถ้ามีขนาดใหญ่มากก็เรียกกันว่า บ้องไฟหรือบั้งไฟ   ซึ่งเป็นการเล่นไฟของชาวไทยทางภาคอีสาน

          นอกจากนี้ ยังปรากฏในหนังสือเก่าว่า การจุดจรวดหรือกรวดอันเป็นดอกไม้ไฟนี้  นอกจากจุดเพื่อเป็นพุทธบูชาดังในปุณโณวาทคำฉันท์ที่กล่าวถึงเรื่องการจุดดอกไม้ไฟเพื่อบูชาพระพุทธบาทแล้ว  ในงานเผาศพก็มีจุดด้วยเช่นกัน.

       กนกวรรณ  ทองตะโก