จากอำแดงถึงนางสาว

          คำนำหน้านามหญิงไทยสามัญในสมัยโบราณก่อนที่จะมีคำ นาง หรือ นางสาว นั้น ใช้คำว่า อำแดง  อี ตลอดจน แม่ ที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่ เป็นต้นว่า แม่พลอย 

          คำนำหน้านาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามว่า คำที่ใช้นำหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงสถานภาพ ตำแหน่งทางวิชาการ ยศ บรรดาศักดิ์ หรือฐานันดรศักดิ์ คำนำหน้าชื่อ ก็เรียก

          อำแดง พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นคำโบราณใช้นําหน้าชื่อหญิงสามัญ อี ก็เป็นคำโบราณใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงสามัญชนทั่วไป เช่น อีอยู่ อีคง ถ้าใช้ในทางเสียหายโดยเฉพาะทางด้านชู้สาว มักใช้ว่า อี่ เช่น หย่างไอ้ดีบวดอยู่วัดโพเสพเมถุนธรรมด้วยอี่ทองมาก นางสาว นิยามว่า คำที่ใช้ในกฎหมายนําหน้าชื่อหญิงที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่มีสามี ส่วน  นาง ที่ใช้ในทางกฎหมาย หมายถึง คํานําหน้าชื่อหญิงผู้มีสามีแล้ว

          จวบจนถึงวันที่ ๔ มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานปกครองและทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ได้บังคับใช้พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้หญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสแล้ว มีสิทธิเลือกใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาง หรือ นางสาว ได้ตามความสมัครใจ  

          คำนำหน้าชื่อในภาษาอังกฤษนอกจากมี  Miss ใช้กับ นางสาว หรือ เด็กหญิง  และ Mrs. ใช้กับ นาง แล้ว ยังมีคำใหม่ Ms. ไว้สำหรับหญิงที่ไม่ต้องการระบุสถานภาพตนเองว่าเป็นนางหรือนางสาว สำหรับเมืองไทยยังไม่มีศัพท์เช่นนั้น ผู้เขียนหวังว่าในอนาคตผู้หญิงไทยจะมีคำดังว่าให้ใช้และมีกฎหมายรองรับด้วย แต่อย่างน้อยในตอนนี้ หญิงไทยที่เป็น นาง ก็สามารถกลับมาเป็น นางสาว ได้แล้วนะคะ 

รัตติกาล  ศรีอำไพ