จาตุรงคมหาปธาน

          เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า  จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมกันด้วยองค์ ๔  ซึ่งประกอบด้วย ๑. พระสงฆ์พุทธสาวกจำนวน ๑๒๕๐ องค์ ที่มาประชุมกันเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณทั้งหมด ๒. พระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบท  ๓. พระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหมดมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย  ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์  และนอกจากองค์ ๔ ที่ประกอบด้วยลักษณะดังกล่าวมาแล้ว  ทราบไหมคะว่ายังมีองค์ ๔ ในความหมายเกี่ยวกับการตั้งความเพียรของพระพุทธเจ้าอีกด้วย คือ จาตุรงคมหาปธาน หรือจาตุรงคมหาปธานะ  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๘  อธิบายไว้ว่า

          จาตุรงคมหาปธาน แปลว่า การตั้งความเพียรมีองค์ ๔  โดยกำหนดเป็นจำนวนไว้ในคำนี้ได้แก่ หนังเป็นองค์อัน ๑  เอ็นเป็นองค์อัน ๑  กระดูกเป็นองค์อัน ๑  เนื้อเลือดเป็นองค์อัน ๑  รวมเป็นองค์ ๔  หมายความว่า  ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ถึงเนื้อเลือดจะแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ยอม  ถ้าทำกิจไม่สำเร็จจะไม่ยอมเลิก  ซึ่งเป็นการกล่าวเฉพาะพระพุทธเจ้าเมื่อคราวประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิ์ในเย็นวันที่จะตรัสรู้นั้น

          ดังปรากฏในหนังสือพระปฐมสมโพธิ ฉบับของสมเด็จพระสังฆราช สา  ที่ทรงไว้ว่า “ทรงพระอธิษฐานความเพียรจาตุรงคมหาปธานมีองค์สี่อย่าง  ตั้งพระหฤทัยว่า หนังและเอ็น และกระดูกและมังสะโลหิตในกาย จงเหือดแห้งไปเถิด  คุณพิเศษอันล้ำเลิศใด ที่เป็นวิสัยบุคคลจะพึงได้ด้วยเรี่ยวแรงและความเพียรแห่งบุรุษ เมื่อยังไม่บรรลุถึงคุณพิเศษนั้น จักไม่สละละความเพียรเสีย”  แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะไม่ลุกจากที่ประทับจนกว่าจะตรัสรู้ด้วยความเพียร

          แม้ว่า จาตุรงคมหาปธาน จะเป็นการตั้งความเพียรของพระพุทธเจ้ามีองค์ ๔ ก็ตาม  แต่ในภายหลังเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ยังทรงเล่าเรื่องนี้เพื่อสอนพระภิกษุที่มีใจท้อแท้ในการประพฤติพรหมจรรย์  ด้วยทรงหวังให้ภิกษุนั้นหันเข้าหาความเพียร  ไม่หยุดความเพียรเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป.

       กนกวรรณ  ทองตะโก