จำปา

          จำปาที่คนส่วนใหญ่รู้จักเป็นชื่อเรียกดอกไม้ชนิดหนึ่งมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอม หรือเมื่อเห็นสีเหลืองอมส้มอย่างดอกจำปาเราจะเรียกว่า สีดอกจำปา

          แต่จำปาไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียกดอกไม้หรือสีเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อเรียกเครื่องหน้าซุงของว่าวจุฬา ซึ่งทำรูปเป็นกลีบเหมือนกลีบดอกจําปา

          หากใช้ในงานสถาปัตยกรรมของอาคารประเภทโบสถ์วิหารที่พบมากในสมัยอยุธยา จำปาจะทำด้วยไม้ ใช้เป็นเครื่องยึดธรณีบนของประตูให้ติดกรอบเช็ดหน้า ตรงส่วนที่ยื่นออกมาจากกรอบเช็ดหน้ามีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดใหญ่เล็กตามความกว้างของประตู ด้านหน้าตกแต่งเป็นรูปกลีบดอกไม้ ส่วนมากมักเป็นรูปดอกสี่กลีบที่เรียกว่า ดอกประจำยาม ส่วนที่ใช้ยึดจะเหลาแต่งให้เป็นเดือยกลม ใช้สอดในรูที่เจาะทะลุระหว่างกรอบเช็ดหน้ากับธรณีประตู 

          จำปาที่เป็นเครื่องใช้ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ โดยนำลำไม้ไผ่มาผ่าตรงปลายให้เป็นซี่โดยรอบ แล้วถ่างให้บานออก ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น

          – ใช้สอยผลไม้ จะใช้ท่อนไม้อัดระหว่างซี่ให้ปลายไม้ไผ่ถ่างออก มีขนาดตามขนาดผลไม้ที่จะสอย ใช้สอยในแนวตั้ง 

          – ใช้สัก (สักคือการแทง) เพื่อเก็บดินขึ้นจากหลุมชนิดที่ขุดเป็นหลุมตีนช้างซึ่งเป็นหลุมที่มีความลึกเป็นช่องขนาดความกว้างเท่ากันจนถึงก้นหลุม จะใช้ลำไม้ไผ่ถ่างปลายให้บานออกประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เสี้ยมปลายแต่ละซี่ให้แหลมสำหรับแทงดิน

          – ทำเป็นหลักสำหรับปักกระบอกไฟพะเนียง

          – ทำเป็นรังให้ไก่กกไข่

          – ทำเป็นที่วางหม้อน้ำดิน

          นอกจากนี้จำปายังเป็นชื่อเรียกแหนบรูปคล้ายกลีบดอกจําปาซึ่งติดอยู่กับแกนในประแจจีน สําหรับยันไม่ให้กุญแจหลุดออกจากกัน คำนี้สะกดว่า จัมปา ก็มี

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์