จิต ๕ ประการ

          ในทางการศึกษามีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับตัวของมนุษย์เพื่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตในอนาคตว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ดังนี้

          จิต ๕ ประการสำหรับอนาคต (Five Minds for the Future) หมายถึง จิต ๕ ประการ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตในอนาคต เสนอโดย เฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๖ ประกอบด้วย

          ๑) จิตวิทยาการ (disciplined mind) หมายถึง จิตที่มีความรู้ความสามารถในวิทยาการด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน รวมทั้งการมีวินัยในการแสวงหาและพัฒนาความรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ๒) จิตสังเคราะห์ (synthesizing mind) หมายถึง จิตที่มีความสามารถในการแยกแยะ สรุป จัดระบบและเชื่อมโยง ข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งสามารถอธิบายขยายความให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ ๓) จิตสร้างสรรค์ (creating mind)

          หมายถึง จิตที่คิดทางบวก มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือนวัตกรรม เป็นจิตที่ต่อยอดมาจากจิตวิทยาการ และจิตสังเคราะห์ ๔) จิตเคารพ (respectful mind) หมายถึง จิตที่แสดงถึงการให้เกียรติ และรับฟังความคิดของบุคคลอื่นที่แตกต่างกับความคิดของตนเอง ยอมรับความหลากหลายของบุคคลและกลุ่มบุคคล พยายามเข้าใจความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของบุคคลอื่น แสวงหาวิธีการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นอย่างมีความสุข และ ๕) จิตจริยธรรม (ethical mind) หมายถึง จิตที่มุ่งเน้นด้านคุณธรรมจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างบุคคล ชุมชน และสังคม จิตเคารพและจิตจริยธรรมนี้จะนำไปสู่จิตสาธารณะ (public mind) คือ เป็นจิตที่ชอบการอาสาสมัคร ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความเต็มใจเสมอ

          การเรียนรู้และการดำเนินชีวิตของบุคคลจะต้องมีการรู้คิด คือ จิตวิทยาการ จิตสังเคราะห์ และจิตสร้างสรรค์ ควบคู่กับจิตเคารพ และจิตจริยธรรม ซึ่งเป็นจิตด้านความรู้สึกและบุคลิกภาพที่เป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้และการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น และช่วยให้ปรับตัวได้ดีในการดำรงชีวิตในอนาคต.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก