จีพีเอส

          หลายคนคงจะคุ้นหูคุ้นตากับศัพท์คำนี้ โดยอาจจะได้ยินหรือได้ฟังจากสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา หรืออาจจะเคยเห็นตามท้ายรถแท็กซี่ หรือเคยได้ยินว่าเป็นชื่อเรียกอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ทราบว่าศัพท์คำนี้หมายถึงอะไรและมีที่มาอย่างไร ศัพท์คำนี้เป็นคำทับศัพท์จากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า GPS ซึ่งย่อมาจาก global positioning system คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์และให้ความหมายศัพท์คำนี้ไว้ดังต่อไปนี้

          “global positioning system (GPS) ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (จีพีเอส) หมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้กำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกโดยอาศัยดาวเทียม สถานีภาคพื้นดิน และเครื่องรับจีพีเอส โดยเครื่องรับจีพีเอสจะรับสัญญาณจากดาวเทียมที่ระบุเวลาและระยะเสมือนจริงแต่ละระยะ และจะใช้ข้อมูลดังกล่าวจากดาวเทียมอย่างน้อย ๔ ดวง มาคำนวณหาตำบลที่ของเครื่องรับ พร้อมทั้งแสดงให้ผู้ใช้ทราบบนจอแอลซีดีของเครื่อง เป็นค่าละติจูด ลองจิจูด และค่าพิกัดยูทีเอ็ม รวมทั้งระดับความสูงด้วย เพื่อให้การกำหนดตำแหน่งครอบคลุมได้ทั่วทั้งโลก โครงข่ายดาวเทียมจีพีเอสนี้ จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมจำนวน ๒๔ ดวง แบ่งเป็น ๖ วงโคจร วงโคจรละ ๔ ดวง ดาวเทียมแต่ละดวงในวงโคจรจะอยู่สูงจากผิวโลกประมาณ ๒๐๒๐๐ กิโลเมตร และจะโคจรรอบโลกภายใน ๑๑ ชั่วโมง ๕๐ นาที”

          ระบบดังกล่าวกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเป็นผู้พัฒนาขึ้น ปัจจุบันมีการนำจีพีเอสมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น อุปกรณ์กำหนดตำแหน่งเครื่องบิน อุปกรณ์นำทางในรถยนต์ อุปกรณ์นำร่องในเรือเดินสมุทร อุปกรณ์ในการทำแผนที่ อุปกรณ์ในการสำรวจ อุปกรณ์ในการศึกษาแผ่นดินไหว เป็นฟังก์ชันหนึ่งในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ

          เมื่อได้ทราบความหมายและที่มาของศัพท์คำนี้แล้วหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้จักและเข้าใจศัพท์คำนี้มากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต เทคโนโลยีนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ได้ใครจะรู้

พรรษา ไทรงาม