จูล่ง

          หนึ่งในห้าทหารเสือของเล่าปี่ ซึ่งผู้ที่เคยอ่านวรรณคดีเรื่อง สามก๊ก  มักจะชื่นชอบ คือ จูล่ง   สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๙  เล่าไว้ว่า

          จูล่งแซ่เตี๋ย หรือจูล่ง เป็นชาวเมืองเสี่ยซัว ปัจจุบันคือมณฑลฮูเปย  เดิมเป็นทหารของกองซุนจ้าน  เป็นคนรูปร่างสง่า ทั้งมีฝีมือดี  เมื่อมาสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ จึงทำให้เล่าปี่รักใคร่ชอบพอมาก เคยร่วมกินร่วมนอนด้วยกัน  จูล่งเป็นคนกล้าและซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย เป็นที่ไว้วางใจของเล่าปี่  ตั้งแต่ออกรบมายังไม่เคยพ่ายแพ้แก่ศัตรู  จึงได้รับสมญาว่า ฮกเจียง แปลว่า ขุนพลผู้มีบุญญานุภาพ

          จูล่งได้กระทำความดีไว้หลายครั้ง เคยช่วยเล่าปี่ไว้ถึง ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่ง เมื่อเล่าปี่ถูกกองทัพของโจโฉติดตามไปถึงเนินเชียงปั่น เล่าปี่หนีเอาตัวรอดทิ้งให้ภริยากับอาเต๊าบุตรชายอยู่ในวงล้อมของข้าศึก จูล่งได้แบกอาเต๊าไว้บนบ่าและคอยคุ้มกันภริยาเล่าปี่ พยายามตีฝ่าวงล้อมจนรอดชีวิตออกมาได้   อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเล่าปี่ยกทัพไปตีทางตะวันตก ซุนกวนออกอุบายแต่งเรือมารับน้อง คือนางซุนฮูหยิน ภริยาคนที่ ๓ ของเล่าปี่ และให้นางพาอาเต๊าไปด้วย  เมื่อจูล่งรู้ข่าวจึงนำทหาร พร้อมด้วยเตียวหุย ลงเรือไปดักกลางแม่น้ำ และแย่งเอาตัวอาเต๊ากลับคืนมาได้ โดยที่ทหารของซุนกวนไม่อาจทำอันตรายได้

          จูล่งนอกจากเป็นนายทหารผู้ซื่อสัตย์และกล้าหาญแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีน้ำใจเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา  ดังมีจารึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ครั้งหนึ่ง เล่าปี่จับทหารของโจโฉได้คนหนึ่ง ชื่อแฮหัวลั้ง และเตรียมจะประหารชีวิต  แต่จูล่งได้ขอชีวิตไว้ด้วยสำนึกถึงมิตรภาพที่มีมาแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เมื่อยังเป็นเพื่อนบ้านชอบพอกันอยู่ และภายหลังจูล่งยังได้เสนอให้เล่าปี่แต่งตั้งเป็นนายทหารฝ่ายปกครอง

          แม้ว่าวรรณคดีเรื่องสามก๊กจะมีมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ได้รับความนิยมมาโดยตลอด  ปัจจุบันมีปรากฏทั้งในรูปแบบของหนังสือ  ภาพยนตร์  การ์ตูน  และเกมออนไลน์.

       กนกวรรณ  ทองตะโก