ฉันคณโภชน์

          มีคำถามผ่านมาทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่า คำว่า “ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์” มีความหมายเป็นอย่างไร ขอให้ราชบัณฑิตยสถานตอบให้หายข้องใจด้วย ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า คำ “ฉัน” เป็นกริยา หมายถึง กิน ใช้แก่ภิกษุสามเณร มิได้หมายถึง “ฉัน” ในความหมายที่เป็นสรรพนาม ใช้แทนตัวผู้พูด และในความหมายที่เป็นวิเศษณ์ที่หมายถึง เสมอเหมือน เช่น อย่าง เช่น ฉันญาติ

          คำว่า “คณโภชน์” หมายถึง ฉันเป็นหมู่ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ส่วนคำว่า “ปรัมปรโภชน์” หมายถึง โภชนะทีหลัง คือ ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งด้วยโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่ไปฉันในที่รับนิมนต์นั้น แต่ไปฉันในที่อื่นที่เขานิมนต์ทีหลัง

          ความเป็นมาของ “คณโภชน์” มีดังต่อไปนี้ พระเทวทัตพร้อมกับบริวารได้เที่ยวไปขออาหารจากชาวบ้านมาฉัน ชาวบ้านต่างพากันติเตียน เหล่าภิกษุได้ยินเข้าจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้สอบถามพระเทวทัต พระเทวทัตก็ยอมรับว่าได้ทำเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ภิกษุต้องปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่”

          ต่อมา พระพุทธองค์ทรงผ่อนพระบัญญัติที่ได้วางไว้เดิม คือ พระภิกษุสามารถฉันเป็นหมู่ได้ในกรณีดังนี้ คราวอาพาธ คราวที่เป็นฤดูถวายจีวร คราวที่ทำจีวร คราวที่เดินทางไกล คราวที่โดยสารเรือไป คราวประชุมใหญ่ (เรื่องนี้มีความเป็นมา คือ พระภิกษุเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ชาวบ้านได้นิมนต์ฉัน แต่พระไม่รับนิมนต์ โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามการฉันเป็นหมู่ ต่อมา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ฉันเป็นหมู่ได้ในคราวประชุมใหญ่) คราวภัตของสมณะ (เรื่องนี้มีความเป็นมา คือพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารคนหนึ่งซึ่งบวชในสำนักของอาชีวกต้องการถวายภัตตาหารแก่นักบวชในลัทธิต่าง ๆ และได้นิมนต์พระภิกษุ แต่พระไม่รับนิมนต์ เขาจึงไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุให้ไปรับภัตตาหารของเขา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระฉันเป็นหมู่ในคราวภัตของสมณะได้)

          ความเป็นมาของ “ปรัมปรโภชน์” ติดตามตอนตามต่อไปครับ

สำรวย นักการเรียน