ชฎา

          ชฎาเป็นเครื่องสวมศีรษะที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยเครื่องทองหรือเงิน ประดับอัญมณีและพวงดอกไม้โลหะ ชฎาที่เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ส่วนใหญ่เรียกว่า “พระชฎา” หรือ “มงกุฎรอง”

          พระชฎาและชฎาต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์มีดังนี้

          พระชฎา ๕ ยอด หรือพระชฎามหากฐิน ปัจจุบันมี ๔ องค์ คือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ พระชฎามหากฐิน ๔ องค์นี้ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร มีส่วนประกอบ คือ มาลา เกี้ยว ส่วนยอดเป็น ๕ แฉก ยอดกลางสูง อีก ๔ ยอดเล็กและต่ำกว่า ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมติดกระจังโดยรอบเป็นชั้น ๆ มีกรรเจียกจร ตอนล่างส่วนยอดพระชฎาปักใบสน หรือขนนกวายุภักษ์ หรือขนนกการะเวกหรือดอกไม้ทองคำซึ่งทำคล้ายขนนก ที่เรียกว่า “ยี่ก่า” พระชฎา ๕ ยอดที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อว่า “พระมหาชมพู” เพราะลงยาสีชมพูทั้งองค์ พระชฎา ๕ ยอดใช้สำหรับทรงในการพระราชพิธีสำคัญ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครหรือเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน พระชฎา ๕ ยอด เป็นเครื่องราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ

          ชฎาพระกลีบ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรมีส่วนประกอบคือ มาลาไม่มีเกี้ยว ส่วนยอดค่อนข้างแบนจำหลักเป็นกลีบ ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมติดกระจังมีใบสนและกรรเจียกจร เป็นเครื่องราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ

          พระชฎาเดินหน สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และมีเครื่องต้นประกอบ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร มีส่วนประกอบคือ มาลากับเกี้ยว ส่วนยอดค่อนข้างแบน มีลวดลาย ปลายสะบัดไปข้างหลัง ตรงกระหม่อมไม่ติดกระจัง แต่มีสาแหรกแปดยึดมาลากับเกี้ยวให้ติดกัน มีใบสนและกรรเจียกจร พระชฎาเดินหนนี้ปรากฏว่าเคยพระราชทานให้เจ้านายบางพระองค์ทรงด้วย

          ชฎาพอก ทำด้วยผ้าหรือกระดาษรูปลักษณะอย่างลอมพอกแต่มีเกี้ยว ประดับดอกไม้ไหวทำด้วยทองคำหรือเงินตามระดับฐานะ ชฎาพอกนี้ใช้สวมพระศพเจ้านายตลอดลงมาถึงขุนนางที่ได้รับเกียรติบรรจุโกศ ส่วนพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ใช้พระชฎามหากฐินของรัชกาลนั้น ทรงตามพระราชประเพณี หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จสวรรคตก่อน โดยที่ยังมิได้สร้างพระชฎามหากฐินไว้เป็นเครื่องทรงประจำพระองค์ เมื่อจะอัญเชิญพระบรมศพลงพระโกศ ก็ทรงพระชฎามหากฐินของพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นสวมถวาย

          ชฎาแปลง ชฎารูปร่างคล้ายชฎกลีบ แต่ไม่มีลวดลายจำหลักหรือลายเขียน

          ชฎาดอกลำโพง มีลักษณะอย่างเดียวกับมงกุฎจีบแต่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า ชฎาดอกลำโพง

          ชฎามนุษย์ ชฎายอดพันผ้าใช้ในราชการ มีลักษณะอย่างลอมพอก

          ชฎายักษ์ ชฎามีรูปทรงและลักษณะต่าง ๆ กันหลายแบบดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทาน ม.จ. พิไลเลขา ตอนหนึ่งดังนี้

          ชฎาที่เรียกว่ามนุษย์นั้นพิจารณาดูรูปจะเห็นว่ามีรูปเดียวคือเป็นอย่างลอมพอกไทย ที่ชฎายักษ์มียอดอุตริต่าง ๆ แต่ครั้นดูรูปภาพนครธม (นครวัด) ก็พบชฎายอดอุตริต่าง ๆ นั้นอยู่บริบูรณ์ จึงเห็นได้ว่ายักษ์ใส่ชฎาขอมนั่นเอง “.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖