ชวด

          คนไทยเคยชินกับคำว่า “ชวด” ในความหมาย ๒ อย่าง อย่างแรกเป็นชื่อของปีในรอบปีนักษัตร [อ่านว่า นัก-สัด] ที่มีหนูเป็นเครื่องหมาย อย่างที่ ๒ หมายถึง ผิดหวัง ไม่ได้ดังหวัง เช่น เขาชวดตำแหน่งที่หวังว่าจะได้รับในปีนี้ นอกจากนี้ คำว่า ชวด บางทีก็ใช้เพี้ยนมาจากคำว่า ทวด ซึ่งหมายถึง พ่อหรือแม่ของปู่ย่าตายาย

          อันที่จริง คำว่า ชวด ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่ค่อยรู้จักกัน คือ หมายถึง ลำน้ำสายเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นทางสัญจร ตัวอย่าง ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มีลำน้ำสายเล็ก ๆ ชื่อ ชวดลากข้าว หมายถึง ลำน้ำเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นเส้นทางของเรือบรรทุกข้าวเปลือกจากไร่นา นอกจากนี้ ยังมีชื่อลำน้ำอีกหลายสายที่มีคำว่า ชวด ประกอบ อยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในภาคตะวันออก

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.