ชวนรู้เรื่องชื่อเรือ (๒)

          ครั้งก่อนได้นำเสนอเรื่องชวนรู้เกี่ยวกับชื่อเรือไปส่วนหนึ่งแล้ว วันนี้ยังมีชื่อเรืออีก ๒ ลำ ที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันมานำเสนอ

          เรือลำแรกคือเรือแซ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายไว้ว่า เรือที่ขุดขึ้นจากซุงทั้งต้น มีรูปร่างเช่นเดียวกับเรือกราบแต่เพรียวน้อยกว่า ใช้ในการลำเลียงพล ศัสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ และเสบียงกรัง อาจใช้เป็นเรือทุ่นหรือทำหน้าที่อื่นได้ คำว่า “แซ” ที่ใช้เป็นชื่อ “เรือแซ” นี้ หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๕ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ” ซึ่งในพจนานุกรมภาษาลาวหมายถึง แม่น้ำสายเล็ก เรือแซ” เป็นเรือรบแบบหนึ่งของไทยมาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันนี้ใช้ร่วมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีประวัติว่า “เรือแซ” เป็นเรือลำเลียงพล ศัสตราวุธ และเสบียงอาหาร ใช้ตีกรรเชียงลำละประมาณ ๒๐ กรรเชียง

          เรืออีกลำหนึ่งคือ เรือสำปั้น” เป็นเรือต่อเสริมกราบชนิดหนึ่ง เดิมทำด้วยไม้กระดาน ๓ แผ่น ท้ายเรือสูงกว่าหัวเรือ ใช้แจวหรือพาย หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๓ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ในสมัยธนบุรีเรียก “เรือสำปั้น” ว่า “สามป้าน” คำว่า “สำปั้น” หรือ “สามป้าน” นี้น่าจะตรงกับคำในภาษามลายูว่า sampan [ซำ-ปัน] หมายถึง เรือแจวหรือเรือพาย สำหรับใช้ในแม่น้ำลำคลอง และตรงกับคำในภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซำปั๋ง” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า ไม้กระดาน ๓ แผ่น หมายถึง เรือขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เหตุที่เรียกเช่นนี้มีคำอธิบายว่า เพราะใช้กระดาน ๓ แผ่น มาต่อประกอบเข้าเป็นเรือเรือสำปั้น” ในสมัยโบราณสั่งตรงมาจากประเทศจีน เรือสำปั้นของจีนมีขนาดเล็ก แต่เรือสำปั้นที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายขนาดและใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป คือ เรือสำปั้นขนาดใหญ่มักใช้สำหรับพักอาศัยและขายสินค้า เรือสำปั้นขนาดกลางใช้เป็นเรือจ้างรับส่งผู้โดยสาร และเรือสำปั้นขนาดเล็กใช้สำหรับพายขายสินค้าจำพวกผักผลไม้และอาหาร.

อารยา ถิรมงคลจิต