ชาด ชาต ชาติ

          บทความนี้ขอเสนอคำว่า ชาด ชาต ชาติ ที่หลายท่านยังสับสนอยู่ว่าสะกดแบบใดกันแน่

          ชาด เป็นคำนาม หมายถึง วัตถุสีแดงสดชนิดหนึ่ง เป็นผงก็มี เป็นก้อนก็มี ใช้ทํายาไทยหรือประสมกับนํ้ามันสําหรับประทับตราหรือทาสิ่งของ ชาดที่มาจากเมืองจอแสประเทศจีนเรียก ชาดจอแส ชาดที่มาจากเมืองอ้ายมุ่ยประเทศจีนเรียก ชาดอ้ายมุ่ย เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง สีแดงสดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สีแดงชาด คำที่มี ชาด รวมอยู่ด้วย เช่น ชาดหรคุณ หมายถึง ชาดประสมกับปรอทและกํามะถันเพื่อจะให้ชาดจับแน่นกับเนื้อทองดุจกะไหล่และเพื่อจะให้สุก กาชาด หมายถึง เครื่องหมายรูปกากบาท (+) สีแดงชาดบนพื้นขาว เป็นเครื่องหมายกาชาดสากล พุทธชาด หมายถึง ไม้เถา ดอกสีขาวกลิ่นหอม

          ชาต เป็นกริยา หมายถึง เกิด และคำที่มีคำ ชาต รวมอยู่ด้วย เช่น ชาตบุษย์ ชาตรูป ปาริชาต อภิชาต 

          ชาติ ความหมายแรก หมายถึง การเกิด เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า; กําเนิด เช่น มีชาติมีสกุล; เหล่ากอ เทือกเถา เผ่าพันธุ์ เช่น ชาติเสือ ชาติขี้ข้า; ชนิด จําพวก ชั้น หมู่; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิมหรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ

          ชาติ ความหมายที่ ๒ หมายถึง ประเทศ; ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน

          ชาติ ความหมายที่ ๓ หมายถึง รส เช่น ไม่เป็นรสไม่เป็นชาติ 

          คำที่มี ชาติ ประกอบหน้าคำ เช่น ชาตินิยม ชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์วิทยา ชาติภูมิ ชาติมาลา ชาติรส ส่วนคำที่มี ชาติ ประกอบท้ายคำ เช่น ตฤณชาติ ติณชาติ ธรรมชาติ พฤกษชาติ รสชาติ

          ต่อไปคงไม่ได้เห็นคำผิด ๆ ว่า ร้านนี้อาหารรสชาดดี นะครับ

สำรวย นักการเรียน