ชานเมือง

          เมื่อเอ่ยถึง นคราภิวัฒน์ (urbanization) ในครั้งก่อนแล้ว ก็คิดได้ว่ามีศัพท์อีกคำหนึ่งที่น่าจะอธิบายไว้ด้วย เพื่อทำให้เห็นกระบวนการนคราภิวัฒน์ชัดเจนขึ้น  เพราะก่อนที่จะเกิดความเป็นเมืองขึ้นพื้นที่เหล่านั้นก็จะมีลักษณะหนึ่งนั่นคือ เป็นเขตชานเมือง (suburban area) ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าหมายถึง พื้นที่บริเวณรอบนอกของเมืองหรือนคร ซึ่งประชากรยังอยู่อาศัยกันไม่หนาแน่นเหมือนในเขตเมือง แต่ก็หนาแน่นกว่าเขตชนบท (rural area) ที่อยู่ไกลออกไป เขตชานเมืองอาจเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่ทำงานในเมือง และเดินทางเข้าเมืองแบบไปเช้าเย็นกลับ ชานเมืองมักเป็นทิศทางที่เมืองจะขยายตัวออกไปจากเมือง เมื่อคนไปอยู่อาศัยกันมากขึ้นก็กลายเป็นเมืองในเวลาต่อมา  จึงอาจเรียกว่าพื้นที่ชานเมืองเป็นลำดับขั้นตอนของกระบวนการนคราภิวัฒน์ก็ได้

          ศัพท์อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ การขยายชานเมือง (suburbanization) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว อธิบายว่า หมายถึง  กระบวนการที่ประชากรเคลื่อนย้ายจากในตัวเมืองหรือจากหมู่บ้านชนบทเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ปริมณฑลของเมือง หรือพื้นที่ที่เรียกว่า เขตชานเมืองเพิ่มขึ้น  ปรากฏการณ์การขยายตัวของชานเมืองนี้อยู่ในกระบวนการนคราภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การขยายชานเมืองเป็นผลมาจากผู้คนที่เคยอยู่อาศัยในเขตเมืองย้ายออกมาอยู่เขตชานเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเทศกำลังพัฒนา เขตชานเมืองเป็นพื้นที่รองรับผู้คนที่ย้ายที่อยู่อาศัยจากทั้งในตัวเมือง และจากเขตชนบท

          กระบวนการขยายชานเมืองมีคำอธิบายในแง่มุมต่าง ๆ นักภูมิศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์เน้นความสำคัญเรื่องตลาดที่ดิน เมื่อราคาที่ดินในเมืองแพงขึ้น ทำให้การประกอบธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างในเขตใจกลางเมืองมีต้นทุนสูงกว่าที่จะลงทุนในเขตชานเมืองอย่างมาก ส่วนนักสังคมวิทยา อาจให้คำอธิบายว่าแรงจูงใจที่ทำให้คนเลือกไปอยู่เขตชานเมืองคือความต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือหลีกเลี่ยงจากการอยู่อย่างแออัดในสังคมเมืองใหญ่

         จินดารัตน์  โพธิ์นอก