ซาง ๑

          ผู้เขียนเคยเสนอเรื่องเกี่ยวกับละออง ซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดกับทารกแรกเกิดถึงเด็กอายุไม่เกิน ๕ ขวบ ๖ เดือน มาแล้ว โดยได้กล่าวถึงคำว่าซางต่าง ๆ ไว้ด้วย เช่น ซางน้ำ ซางโจร ซางโค หลายคนอาจสงสัยว่า ซางต่าง ๆ ที่กล่าวไว้นั้นคืออะไร ฉบับนี้จึงขอนำเรื่องของ ซาง มาเสนอดังนี้

          คำว่า ซาง หมายถึง ชื่อโรคชนิดหนึ่ง ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่าเป็นแก่เด็กเล็ก มีลักษณะเกิดเป็นเม็ดขึ้นในปากในคอ ลิ้นเป็นฝ้า มีอาการ เช่น ไม่กินนม ไม่กินข้าว ปวดหัวตัวร้อน พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ระบุว่ามี ๒ ประเภท คือ ซางเจ้าเรือน เป็นซางที่เกิดกับทารกตั้งแต่อายุครรภ์ได้ ๓ เดือน จนอายุได้ ๕ ขวบ ๖ เดือน และ ซางจร เป็นซางที่เกิดแทรกขึ้นระหว่างซางเจ้าเรือน หรือเป็นซางที่เกิดต่อเนื่องจากซางเจ้าเรือน ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น ทั้งซางเจ้าเรือนและซางจรมีอาการแตกต่างกันตามวันเกิดของเด็ก ตัวอย่างของซางเจ้าเรือน เช่น ซางโค เป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดี เด็กที่ป่วยจะมีอาการไข้ มีผื่นเหมือนผดขึ้นทั้งตัว มีแม่ซาง ๔ เม็ด มีบริวาร ๕๐ เม็ด ขึ้นกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ตามช่วงอายุ ทำให้มีอาการแตกต่างกันไป เช่น เมื่อขึ้นที่ปากและลิ้น จะทำให้ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย ไอ ท้องเสีย ซางโจร เป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันเสาร์ มักเกิดกับเด็กตั้งแต่อายุ ๓ วัน ไปจนถึง ๑ ขวบ ๖ เดือน เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการแสดงออกที่ปาก ลิ้น และเพดานปากเป็นเม็ดยอดสีเหลืองขอบแดง แล้วเปื่อยลามไปทั้งตัว มีอาการท้องเดินร่วมด้วย อุจจาระอาจเป็นมูกหรือเป็นเลือด มีสีและกลิ่นเหมือนน้ำไข่เน่า น้ำคาวปลา หรือน้ำล้างเนื้อ ซางน้ำ เป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันจันทร์ เด็กที่ป่วยจะมีเม็ดยอดสีแดงขนาดใหญ่ที่เป็นแม่ซาง ๑๙ เม็ด ขึ้นตามแขน หน้าแข้ง กลางหลัง และแก้ม (แม่ซาง คือ เม็ดยอดที่ผุดขึ้นมาเป็นกลุ่ม มักมีเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่เป็นบริวาร) ถ้ามีอาการหนักขึ้น เม็ดยอดจะแตกเป็นน้ำเหลือง เป็นแผลเปื่อยทั่วตัว มีไข้ ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น.

อารี พลดี