ซาง ๒

          ฉบับที่แล้วผู้เขียนเสนอว่า ซางมี ๒ ประเภท คือ ซางเจ้าเรือน กับ ซางจร และได้อธิบายความหมายของซางทั้ง ๒ ประเภทไว้แล้ว รวมทั้งได้ยกตัวอย่างของซางเจ้าเรือนด้วย ฉบับนี้จึงขอยกตัวอย่างของซางจรที่เกิดแทรกหรือเกิดต่อจากซางเจ้าเรือนซึ่งได้เสนอไว้ในฉบับที่แล้ว ดังนี้

          ซางข้าวเปลือก หรือ ซางเข้าเปลือก เป็นซางจรที่เกิดแทรกซางโคอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดี ซางชนิดนี้มีแม่ซาง ๕ เม็ดขึ้นที่กระหม่อม กลางหลัง นาภี และรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง แม่ซางแต่ละเม็ดมีบริวาร ๑๐ เม็ด รวม ๕๐ เม็ด ผู้ป่วยจะมีอาการปากร้อนและท้องเสีย จากนั้นจะมีอาการมือเท้าเย็น เมื่อแม่ซางทยอยเลื่อนไปที่ท้องจนครบ ๕ เม็ด บริวารทั้ง ๕๐ เม็ดจะทยอยขึ้นทั้งตัว (แม่ซาง คือ เม็ดยอดที่ผุดขึ้นมาเป็นกลุ่ม มักมีเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่เป็นบริวาร) ทำให้เกิดผื่นคันเหมือนคายข้าวเปลือก ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน ท้องอืด มือกำ เท้างอ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ดูดนมไม่ได้ ถ้าไม่หายใน ๓-๗ วัน อาการจะรุนแรงถึงตายได้ ซางนางริ้น เป็นซางจรที่เกิดแทรกหรือเกิดต่อจากซางโจรอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันเสาร์ ซางนี้มีแม่ซาง ๔ เม็ด มีบริวาร ๕๖ เม็ด เกิดได้กับเด็กตั้งแต่ออกจากเรือนไฟ แม่ซางแต่ละเม็ดและบริวารจะทยอยขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ตามช่วงอายุ ทำให้มีอาการแตกต่างกันไป เช่น เมื่อผู้ป่วยอายุได้ ๓ เดือน แม่ซางและบริวารจะไปขึ้นที่คอ ทำให้คอแห้ง ลิ้นขาว ดูดนมไม่ได้ ซางชนิดนี้อาจเกิดแทรกซางอื่นได้ทุกซาง ซางฝ้าย เป็นซางจรที่เกิดแทรกซางน้ำอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันจันทร์ ไม่มีแม่ซางเกิดขึ้นตามผิวหนัง แต่ขึ้นที่เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ไรฟัน และลิ้น เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาว มีไข้สูง ปากร้อน ปากแห้ง ไม่มีน้ำลาย หุบปากไม่ลง กินอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเดิน อุจจาระเหม็นเหมือนไข่เน่า ซางจรยังมีอีกหลายชนิด เช่น ซางกระแหนะ ซางกราย ซางกระดูก ซางกระตัง ผู้ที่สนใจสามารถค้นความหมายได้จากพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๑.

อารี พลดี