ซาง ๓

          ผู้เขียนเคยเสนอเรื่องของซางที่หมายถึงโรคชนิดหนึ่งที่เกิดกับเด็กเล็กมาแล้ว แต่ซางยังมีความหมายอื่นตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า บ่อนํ้า หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ชื่อไผ่หลายชนิดในสกุล Dendrocalamus  วงศ์ Gramineae ชนิดปล้องเล็กยาว เนื้อบาง ใช้เป็นลํากล้องเป่าลูกดอกหรือลูกดินเหนียวปั้นกลมเป็นต้น เรียกว่า ไม้ซาง ซึ่งซางที่หมายถึงต้นไผ่นั้นก็มีหลายชนิดเช่นเดียวกับซางที่หมายถึงชื่อโรค คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืช ราชบัณฑิตยสถาน ได้เขียนคำอธิบายของซางชนิดต่าง ๆ ไว้แล้ว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างมาเสนอพอสังเขปดังนี้

         ซางคำ (Dendrocalamus latiflorus  Munro) มีชื่อเรียกอื่นว่า ไผ่หม่าจู  หรือ ไผ่หวานอ่างขาง เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกไผ่ เหง้าเจริญทางด้านข้างแบบเหง้ากอ ลำตรง ปลายโค้ง กาบหุ้มสีเหลืองอมเขียว ใบเดี่ยว พบเฉพาะที่กิ่ง เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบ ออกตามปลายยอดหรือตามกิ่งที่ไม่มีใบ ช่อดอกย่อยเป็นแบบช่อดอกย่อยเทียม สีม่วงแดงหรือสีม่วงแดงอมน้ำตาล ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ทรงรูปไข่ ซางดอย (Dendrocalamus membranaceus  Munro) มีชื่อเรียกอื่นว่า ไผ่ซางนวล หรือ ไผ่ซาง  มีลักษณะใกล้เคียงกับซางคำ แต่ต่างกันที่ปลายลำต้นของซางดอยจะไม่โค้ง กาบหุ้มมีสีส้มหรือสีเหลืองถึงสีน้ำตาลแกมส้มเขียว รูปใบจะเป็นรูปหอกหรือรูปแถบ ช่อดอกย่อยมีสีเขียวหรือสีเหลืองอมเขียว และผลจะเป็นทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ทั้งซางคำและซางดอยจะออกดอกและเป็นผลได้เพียงครั้งเดียวแล้วตาย นอกจากนี้ยังมีซางอีกชนิดหนึ่งคือ ซางจิง (Nageia motleyi  (Parl.) de Laub.) ซึ่งไม่ใช่ไผ่ แต่เป็นไม้ต้นประเภทพืชเมล็ดเปลือย พบตามป่าพรุหรือชายป่าพรุ และป่าชายหาด ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีชื่อเรียกอื่นว่า ซางจีน หรือ พญาไม้ ภาษามลายูเรียกว่า รายอกายู.

อารี พลดี