ญาณ

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำ ญาณ ญาณ–  [ยาน ยานะ– ยานนะ–] ว่า เป็นคำนามหมายถึง ปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ ใช้ในความหมายเดียวกับ วิชชา [วิด–] ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำ วิชชา [วิด–] ว่า ความรู้ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความรู้ขั้นสูงเหนือความรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสและเหตุผลทางตรรกะ แบ่งออกเป็น วิชชา ๓ และวิชชา ๘

          วิชชา ๓ ได้แก่ บุพเพนิวาสานุสติญาณ (รู้จักระลึกชาติได้) ญาณเป็นเหตุให้ระลึกชาติของตนเองได้เช่นว่า ตนได้เกิดมาแล้วที่ไหน มีชื่ออะไร มีการดำเนินชีวิตอย่างไร มีอายุยืนหรืออายุสั้นอย่างไร  จุตูปปาตญาณ (รู้จักกําหนดจุติและเกิด) ญาณเป็นเหตุให้กำหนดรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายได้ เป็นความรู้ขั้นทำให้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่กำลังตายและกำลังเกิดในภพภูมิต่าง ๆ  อาสวักขยญาณ (รู้จักทําอาสวะให้สิ้น) ญาณเป็นเหตุให้รู้แจ้งธรรมที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งปวง

          ส่วนวิชชา ๘ ได้แก่  วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา เป็นความรู้ที่พิจารณาเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง (อนิจจัง)  ผันแปรแตกสลาย (ทุกขัง)  ไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยงแท้ (อนัตตา)  มโนมยิทธิ  ฤทธิ์ทางใจ เป็นความรู้ขั้นสามารถเนรมิตกายทิพย์ขึ้นมาจากกายเนื้อ หรือที่เรียกว่า ถอดกายทิพย์  อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้  ทิพโสต หูทิพย์   เจโตปริยญาณ รู้จักกําหนดใจผู้อื่น   บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้  ทิพจักขุ ตาทิพย์ และ   อาสวักขยญาณ รู้จักทําอาสวะให้สิ้น

          ญาณ ความหมายต่างจาก ฌาน เพราะ ญาณ คือ ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ ขณะที่ ฌาน หมายถึง ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์.

รัตติกาล  ศรีอำไพ