ตราภูมิคุ้มห้าม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำว่า ตราภูมิ และ คุ้มห้าม แยกเป็น ๒ คำ คือ คำว่า ตราภูมิ เป็นโบราณศัพท์ และเป็นคำนาม หมายถึง หนังสือประจำตัวสำหรับคุ้มค่าน้ำค่าตลาดสมพัตสรได้เพียงราคา ๑ ตำลึง มักใช้เข้าคู่กับคำ คุ้มห้าม เป็น ตราภูมิคุ้มห้าม  ส่วนคำว่า คุ้มห้าม นิยามไว้ว่า เป็นคำกริยา หมายถึง ยกเว้นจากความต้องห้ามและภาษีอากรโดยมีหนังสือเป็นตราภูมิ และอธิบายตรงกันว่า มักใช้เข้าคู่กับคำ ตราภูมิ เป็น ตราภูมิคุ้มห้าม

คณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน มีความเห็นว่า คำ ตราภูมิ และ คุ้มห้าม เป็นคำเดียวกัน มิใช่คำที่แยกใช้ จึงได้แก้ไขให้เก็บคำ ตราภูมิคุ้มห้าม ซึ่งเป็นคำเต็มเพียงคำเดียว และปรับปรุงบทนิยาม ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนี้

ตราภูมิคุ้มห้าม เป็นโบราณศัพท์ และเป็นคำนาม หมายถึง หนังสือราชการประจำตัวไพร่หลวงสำหรับบางหมู่บางพวก เดิมเพื่อได้รับการลดหย่อนภาษีอากรต่าง ๆ หรือได้รับยกเว้นการเกณฑ์แรงงานตามที่กำหนดให้ ต่อมาเหลือเพียงการลดหย่อนภาษีอากร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ไพร่หลวงที่ได้รับพระราชทานตราภูมิคุ้มห้าม ได้แก่ หมู่ฝีพายเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เรือพระที่นั่งกราบทรง เรือพระที่นั่งกราบรอง เรือพระที่นั่งดั้งทองขวานฟ้า ฝีพายบ้านใหม่โพเรียง เรือดั้งอาสาวิเศษ ช่างลางหมู่ โขลงรามัญ ดั้งทอง ดาบสองมือ อาสาจามกองทะเล นายท้ายนายใบเมืองสมุทรปราการ กรมอภิรมย์ราชยาน กรมทหารรักษาพระองค์ และกรมล้อมพระราชวัง เท่านั้น.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน