ตรุษไทย-สงกรานต์

          วันตรุษ วันสารทของไทยหมายถึงวันไหนกันบ้างนะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามของคำ สารท ว่า “เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน ๑๐ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์” ขนมในเทศกาลนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือกระยาสารท 

          ส่วนคำตรุษ ตรุษไทย  นิยามว่า “เทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ตรุษไทยกําหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๔” ซึ่งในปีนี้ตามปฏิทินหลวงจะตรงกับวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน   เทศกาลเนื่องในการสิ้นปีนี้ คนไทยนิยมทำบุญตักบาตรด้วยข้าวเหนียวแดงตามประเพณี 

          สำหรับเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่ที่กำหนดตามสุริยคติ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามของคำ สงกรานต์ ว่า “เทศกาลเนื่องในการขึ้นปีใหม่อย่างเก่า ซึ่งกําหนดตามสุริยคติ ปรกติตกวันที่ ๑๓–๑๔–๑๕ เมษายน วันที่ ๑๓ คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ คือวันเนา และวันที่ ๑๕ คือวันเถลิงศก” การขึ้นจุลศักราชใหม่หรือการนับจุลศักราช ๑๓๗๐ จึงเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ไปจนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ นั้น คนไทยนิยมนุ่งผ้าชุดใหม่ไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัวขอพรคนเฒ่าคนแก่ ปล่อยนกปล่อยปลา ตลอดจนบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีมีประเพณีเล่นสาดน้ำกันในหมู่คนหนุ่มคนสาว  ซึ่งในปัจจุบันประเพณีเล่นสาดน้ำนี้ได้กลายเป็นการเล่นรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ที่เด่นชัดและได้รับความนิยมมากที่สุด  จนดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ลดความสำคัญของประเพณีดั้งเดิมไปแล้ว ถ้าอย่างนั้น สงกรานต์ปีนี้เราไปทำบุญตักบาตรกันมั๊ยคะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ