ตลาดหลักทรัพย์
(Securities Exchange; Securities Market; Stock Market)

          เรื่องตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดทุนกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วไปอยู่ขณะนี้  ตลาดทุนเป็นสถานที่ระดมพลังทรัพย์สินเพื่อการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของกิจการทางการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรมและบริการ และเป็นการลงทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีธนาคารหลักทรัพย์หรือเงินทุนหลักทรัพย์ สถาบันธุรกิจต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทที่ดำเนินการทางธุรกิจ สถาบันการเงิน สถานประกอบการบริการต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินการเสมือนเป็นชีพจรทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความชำนาญต่าง ๆ และประสบการณ์ของการบริหารกิจการทางด้านนี้ จึงเป็นความชำนาญเฉพาะเรื่อง ซึ่งมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยกันเป็นสัดส่วน เป็นวิชาชีพอิสระอีกแขนงหนึ่ง

          คำศัพท์บางคำที่มีความหมายเฉพาะในเรื่องของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งใช้กันอยู่ในวงการตลาดหลักทรัพย์ จึงได้นำมาเสนอไว้เพื่อผู้สนใจจะได้ทราบเป็นพื้นฐานในการที่จะหาความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand เรียกย่อว่า SET) ส่วนตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่คุ้นเคยกัน ได้แก่

          ตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง  ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng)
          ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ
ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones)
          ตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษ  ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times)
          ตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีนิกเกอิ (Nikkei)
          ตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์  ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ ดัชนีคอมโพไซต์  (Composite)
          ตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์  ดัชนีราคาหุ้นที่สำคัญชื่อ
ดัชนีสเตรตสไทม์   (Striats Times)

คำย่อที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้มาก และปรากฏอยู่เสมอทางสื่อมวลชน โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์

          DS (Designated Securities)  หมายถึง ราคาหรือปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปรกติ
          NP (Notice Pending)               หมายถึง อยู่ในระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
          NR (Notice Received)             หมายถึง ได้รับข้อมูลจากบริษัทแล้ว
          SP (Suspension)                     หมายถึง อยู่ในระหว่างการห้ามซื้อหรือขายเป็นการชั่วคราว
          XA (EX All)                               หมายถึง ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในเงินปันผล ดอกเบี้ยการจองซื้อหุ้นใหม่
          XD (EX Dividend)                    หมายถึง ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในเงินปันผล
          XI (EX Interest)                       หมายถึง ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในดอกเบี้ย
          XR (EX Right)                          หมายถึง ผู้ซื้อไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขึ้น-ลงของราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

          ๑. ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงิน อัตราเงินเฟ้อ ผลกำไรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยในประเทศ
          ๒. ปัจจัยทางการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการบริหาร การกระจายอำนาจ ปัญหาระหว่างข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ข่าวลือต่าง ๆ รวมถึงการปฏิวัติ รัฐประหาร การสงครามที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น สงครามในอิรัก
          ๓. ปัจจัยทางด้านต่างประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และที่สำคัญคือดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากดัชนีหุ้นต่างประเทศจะสะท้อนถึงข่าวสารต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะการรับข่าวสารความเคลื่อนไหวเรื่องหุ้นสามารถรับได้ทันทีจากข้อมูลดาวเทียม

สำหรับการขึ้น-ลงของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีผลกระทบกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

          ๑. ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่สำคัญต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นตัวชี้ที่สะท้อนและแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งต่างประเทศจะได้รับข่าวสารข้อมูลรวดเร็วมาก สาเหตุหลัก ๆ ที่มีผลต่อดัชนีก็คือ
                    – การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ประมุข หรือประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ
                    – การปฏิวัติ รัฐประหาร
                    – สภาวะเศรษฐกิจของโลก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย

           ๒. ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย ที่สำคัญ ๆ อาทิ
                    – ดัชนีดาวโจนส์ ของสหรัฐอเมริกา
                    – ดัชนีนิกเกอิ ของญี่ปุ่น
                    – ดัชนีฮั่งเส็ง ของฮ่องกง
                    – ดัชนีไฟแนนเชียลไทม์ ของอังกฤษ

เอกสารอ้างอิง
          – บริษัทหลักทรัพย์ยูเนียน จำกัด
          – เอกสารโรเนียวตลาดหลักทรัพย์

ผู้เขียน : ศ. ดร. จุมพล สวัสดิยากร ราชบัณฑิตประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสังคมวิทยา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๖