ตาปลา

          ส่วนของผิวหนังซึ่งด้านเป็นไตแข็งคล้ายตาของปลา มักจะเกิดที่นิ้วเท้าและฝ่าเท้าโดยตรงบริเวณใกล้โคนนิ้วเท้า เนื่องจากมีการเสียดสีหรือกดเป็นเวลานาน เรื้อรัง ร่างกายจึงสร้างหนังกำพร้าขึ้นมารองรับหลายชั้น บางครั้งกดก็เจ็บ
          เมื่อเหยียบถูกตาปลาจะเจ็บมาก จึงเกิดเป็นสำนวนว่า “เหยียบตาปลา” หมายความว่า ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปกระทบปมด้อยหรือเรื่องที่เขาไม่พอใจและฝังใจอยู่ ทำให้ไม่พอใจ หงุดหงิด และเจ็บใจ เช่น เธอไปเหยียบตาปลานายเขาเข้าหรือ เขาถึงได้ถูกย้าย

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.