ตำนานดอกกุหลาบ

          ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เดือนที่ใคร ๆ เรียกขานกันว่าเป็นเดือนแห่งความรัก หนุ่มสาวมักมอบของขวัญ หรือดอกไม้ให้แก่กันเพื่อแสดงความรู้สึกที่ดี  ผู้ขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาดและชาวสวนกุหลาบจะชื่นชอบช่วงเวลานี้มาก เนื่องจากสามารถสร้างกำไรจากอาชีพได้เป็นกอบเป็นกำ

          “กุหลาบ”  เป็นพรรรณไม้ในสกุล Rosa  วงศ์ Rosaceae ส่วนมากเป็นไม้พุ่ม บางชนิดก็เป็นไม้เลื้อย ลำต้นมีหนาม ดอกมีสีต่าง ๆ กลีบชั้นเดียวหรือซ้อน ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อตามปลายยอด  ในวรรณคดีไทยมีเรื่องที่เกี่ยวกับดอกกุหลาบเช่นกัน  คือเรื่อง มัทนะพาธา  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่องดังกล่าวเป็นตำนานของดอกกุหลาบ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๓  และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (สาย ธรรมานนท์) ให้ข้อมูลว่า มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์เรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทย ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรูปเรื่องขึ้นโดยอัตโนมัติ มิได้ทรงนำมาจากเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น  คำว่า “มัทนะพาธา”   มาจากคำว่า “มทน”  แปลว่า “ความรัก หรือความลุ่มหลง” และคำ “พาธ” แปลว่า “ความชอกช้ำ หรือความเจ็บปวด” รวมกันแล้วมีความหมายว่า “ความชอกช้ำอันเกิดจากความรัก” หรือ “the pain or disquietude of love”  ชื่อเรื่อง มัทนะพาธา นี้มีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตัวละครหลักล้วนประสบความชอกช้ำอันเกิดจากความรัก  และในตอนสุดท้ายของเรื่อง  นางเอกถูกสาปให้เป็นดอกกุหลาบตลอดไป  โลกมนุษย์จึงมีดอกกุหลาบมาจนบัดนี้ 

          ดอกกุหลาบให้ความสุขแก่ผู้ชื่นชอบได้ทั้งทางรูปและทางกลิ่น ผู้เขียนหวังว่าสีสวย ๆ และกลิ่นหอม ๆ จะช่วยให้ทุกฝ่ายมีความสุขในเดือนนี้ ไม่ชอกช้ำดังชื่อเรื่องวรรณคดี.

ปาริชาติ กิตินันทน์