ตำนานพระแก้วมรกต (จบ)

          หลังจาก พระเจ้าไชยเชษฐา อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงของกรุงศรีสัตนาคนหุต จนถึง พ.ศ. ๒๑๐๗ ได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงใหม่ เป็นการย้ายนครหลวง เนื่องด้วยเกรงอำนาจพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดีขณะนั้น

          พ.ศ. ๒๓๒๑  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีกรุงศรีกรุงศรีสัตนาคนหุต จนได้รับชัยชนะ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี และโปรดให้จัดงานสมโภช พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ในโรงที่สร้างถวายภายในบริเวณพระราชวังเดิม เรียกกันต่อมาว่า โรงพระแก้ว เป็นเวลา ๓ ปี

          พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานบนบุษบกในพระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ จวบจนปัจจุบัน

          กรณีเครื่องทรง และการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องทรงถวายสำหรับฤดูร้อนและฤดูฝน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาวอีกหนึ่งชุด  และการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงถวายตามฤดูทั้ง ๓ ฤดู เป็นพระราชประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน.

รัตติกาล  ศรีอำไพ