ตำนานพระแก้วมรกต

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า พระแก้วมรกต คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุด มีพระนามเป็นทางการว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แกะสลักจากหยกสีเขียวแท่งเดียวตลอดทั้งพระองค์ จึงเป็นพระเนื้อเดียวบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๘.๐๓ เซนติเมตร สูงจากฐานมณีถึงยอดพระเมาลี ๖๖ เซนติเมตร

          มีตำนานพระแก้วมรกต ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจสอบและทรงนิพนธ์ ลำดับความได้ดังนี้ พ.ศ. ๑๙๗๙ พระเจดีย์เก่าในเมืองเชียงรายถูกฟ้าผ่า พบพระพุทธรูปปิดทองคำทึบ อีก ๒-๓ เดือนต่อมา ปูนที่ลงรักปิดทองไว้ได้กะเทาะที่ปลายพระนาสิก (จมูก) เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม  จึงแกะปูนออกทั้งองค์ อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่  แต่ช้างที่อัญเชิญไม่ยอมเข้าเมืองเชียงใหม่ นำเลยไปเมืองลำปาง จึงต้องสร้างวัดขึ้นที่เมืองลำปาง เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน เป็นเวลา ๓๒ ปี (โดยวัดดังกล่าวมีชื่อว่า วัดพระแก้ว จวบจนปัจจุบัน)

          พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่เป็นผลสำเร็จ พยายามสร้างวิหารยอดขึ้นให้เป็นที่ประดิษฐาน แต่ถูกฟ้าผ่าทำลายเสียหลายครั้ง จึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มสระน้ำด้านหลังของวิหารวัดเจดีย์หลวง และอยู่ที่นั่นเรื่อยมาเป็นเวลา ๘๔ ปี

          พ.ศ. ๒๐๙๕ พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงของกรุงศรีสัตนาคนหุต เป็นเวลา ๑๒ ปี เนื่องจากพระเจ้าไชยเชษฐาผู้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ กลับไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุต แทนพระราชบิดา (พระเจ้าโพธิสาร) ที่สิ้นพระชนม์ โดยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย  และไม่ได้กลับมาครองเมืองเชียงใหม่อีก

          ในตอนหน้า มาดูกันว่า พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่พระอุโบสถในวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้อย่างไร

รัตติกาล  ศรีอำไพ