ตำแหน่งรัชทายาท

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายคำ “รัชทายาท” ไว้ว่า ผู้จะสืบราชสมบัติ  ซึ่งในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ได้อธิบายการสืบราชสมบัติว่าเป็นการสืบทอดอำนาจการปกครองแผ่นดินของพระมหากษัตริย์  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย การสืบราชสมบัติเป็นการสืบทอดอำนาจโดยใช้ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเป็นสำคัญ แต่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน  ตำแหน่งรัชทายาทที่ปรากฏในช่วงต้นของสมัยอยุธยาพบในกฎมณเฑียรบาลว่า “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกพระราชโอรสอันเกิดจากพระอัครมเหสี  นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายังปรากฏตำแหน่ง “พระราเมศวร” ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระราชโอรสองค์โตทั้งสิ้น

          ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีประเพณีการตั้ง “พระมหาอุปราช” เป็นรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชนี้ มีทั้งพระราชโอรสและพระราชอนุชาของพระมหากษัตริย์  ตำแหน่งพระมหาอุปราชนี้ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา เรียกว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า (คำ วังหน้า มีที่มาจากพระราชวังจันทรเกษมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช)  นับแต่นั้นมาตำแหน่งพระมหาอุปราชก็คือผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และตำแหน่งนี้มีมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญซึ่งทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมการตั้งพระมหาอุปราช และโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” เป็นรัชทายาท ในพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งพระองค์แรก คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  พระองค์ที่ ๒ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) และพระองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน