ต่าง ๆ นานา

          ทำไม “ต่าง ๆ นานา” จึงไม่สะกดเป็น “ต่าง ๆ นา ๆ” คำถามนี้ตอบได้ว่า คำ “นานา” เป็นภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” ดังนั้น คำว่า “นานา” จึงไม่ใช้เป็น “นา ๆ”

          เมื่อกล่าวถึงไม้ยมก หรือยมก ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไว้ดังนี้

          ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลี หรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่าง
(๑) เด็กเล็ก ๆ
อ่านว่า เด็ก-เล็ก-เล็ก
(๒) ในวันหนึ่ง ๆ อ่านว่า ใน-วัน-หฺนึ่ง-วัน-หฺนึ่ง
          (๓) แต่ละวัน ๆ อ่านว่า แต่-ละ-วัน-แต่-ละ-วัน
          นอกจากได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไว้แล้ว ยังได้ให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้
๑. คำที่เป็นคำซ้ำ ต้องใช้ไม้ยมกเสมอ เช่น สีดำ ๆ
อ่านว่า สี-ดำ-ดำ เด็กตัวเล็ก ๆ อ่านว่า เด็ก-ตัว-เล็ก-เล็ก
๒. ไม่ควรใช้ไม้ยมก ในกรณีดังต่อไปนี้
๒.๑ เมื่อเป็นคำคนละบทคนละความ เช่น ให้เขียนว่า
“ฉันจะไปปทุมวันวันนี้” ไม่ใช่เขียนว่า “ฉันจะไปปทุมวัน ๆ นี้”
๒.๒ เมื่อรูปคำเดิมเป็น ๒ พยางค์ ที่มีเสียงซ้ำกัน ตัวอย่างคำว่า “จะจะ” เช่น เขียนจะจะ ดำนาจะจะ
               ๒.๓ เมื่อเป็นคำคนละชนิดกัน เช่น คนคนนี้มีวินัย (คนคำแรกเป็นสามานยนาม คนคำหลังเป็นลักษณนาม)
๒.๔ เมื่อเป็นคำประพันธ์ (ยกเว้นกลบทที่มีกำหนดให้ใช้ไม้ยมกได้)

          ชัดเจนแล้วใช่ไหมครับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้ไม้ยมก หรือยมก

สำรวย นักการเรียน