ถนนดินสอ

          ในเขตพระนครใกล้ลานเสาชิงช้า มีถนนสายหนึ่งที่มีระยะทางยาวไม่ถึง ๑ กิโลเมตร แต่เป็นถนนที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ด้วยชื่อของถนนนั้นมาจากการประกอบอาชีพดั้งเดิมของชุมชนที่ถนนตัดผ่าน ถนนนั้นคือ ถนนดินสอ นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ ได้เรียบเรียงความเป็นมาของถนนนี้ไว้ในพจนานุกรมวิสามานยนามไทย วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ความโดยสรุปว่า

          ถนนดินสอเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๑ เริ่มก่อสร้างถนนในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ การตัดถนนดินสอนี้เนื่องจากตั้งแต่ถนนเฟื่องนครตอนต่อกับถนนรอบพระนครตรงมา ต้องอ้อมไปตามถนนบำรุงเมืองจนจดถนนรอบพระนคร จึงสมควรมีถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมา รวมทั้งรถม้าด้วย กรมสุขาภิบาลจึงได้สำรวจทำแผนที่ตั้งแต่ตรอกดินสอผ่านสวนตึกดินไปออกวัดรังสีสุทธาวาสบรรจบถนนรอบพระนคร นอกจากนี้ ยังได้สร้างตึกแถวริมถนนดินสอตั้งแต่มุมถนนดินสอตอนจดถนนบำรุงเมือยาวไปตามถนนดินสอด้วย

          การก่อสร้างถนนดินสอแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๒ พร้อมกับสะพานข้ามคลองช่วงที่ถนนตัดผ่านคลองหลอด วัดราชนัดดาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนดินสอเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒

          ชื่อของถนนดินสอมาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านดินสอที่ถนนตัดผ่าน คือ อาชีพทำและจำหน่ายดินสอเหลือง ดินสอขาว สำหรับเขียน และจำหน่ายสมุดไทยต่าง ๆ

          ปัจจุบันถนนดินสอเป็นถนน ๔ ช่องทางเดินรถ เริ่มต้นจากถนนบำรุงเมือง ใกล้ลานเสาชิงช้า ตรงไปตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงไปจดถนนพระสุเมรุตรงข้ามเชิงสะพานเฉลิมวันชาติ ระยะทาง ๘๕๐ เมตร.

กนกวรรณ ทองตะโก