ทรัพย์สิน  สินทรัพย์

          สิ่งที่อย่างน้อยครอบครัวส่วนใหญ่ในปัจจุบันต้องมี   ก็คือ วิทยุ  โทรทัศน์  เงินทองไว้ใช้จ่าย  บ้าน ที่ดิน ซึ่งล้วนเป็นทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ทั้งสิ้น   คำทั้งสองดังกล่าวเป็นคำที่เกิดจากการนำคำ ๒ คำมารวมกัน  คือ คำว่า ทรัพย์ กับคำว่า สิน  ทรัพย์หมายถึง เงินตรา  เช่น ไม่มีทรัพย์ติดตัว  สมบัติพัสถาน เช่น เขาเป็นคนมีทรัพย์  และคำว่า สิน หมายถึงเงิน  ทรัพย์  เช่น  ทรัพย์ในดิน  สินในน้ำ  มักใช้เข้าคู่กับคำ ทรัพย์ เป็น  ทรัพย์สิน หรือ สินทรัพย์

          คำว่า ทรัพย์สิน กับ สินทรัพย์นี้ พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายความหมายไว้ต่างกัน  ตรงกับคำภาษาอังกฤษ ว่า  asset หรือ assets โดยมีคำอธิบายดังนี้

          ๑. ทรัพย์สิน หมายถึง รายการของวัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่ถือครองได้  ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงิน  ทรัพย์สินแบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ (๑)  ทรัพย์สินมีตัวตน (tangible assets)  เช่น โรงงาน เครื่องจักร  ที่ดิน  สินค้าบริโภคถาวร (๒)  ทรัพย์สินทางการเงิน (financial  assets)  เช่น เงินตรา  ธนบัตร  หุ้น พันธบัตร (๓) ทรัพย์สินไม่มีตัวตน (intangible assets)  เช่น  เครื่องหมายการค้า (trade–mark)  ค่าความนิยม (goodwill) ของสินค้าหรือของกิจการทรัพย์สินทางปัญญา [มีความหมายเหมือนกับ property ]

          ๒. สินทรัพย์  ในทางบัญชี หมายถึง สิทธิและทรัพยากรที่กิจการมีอยู่ ซึ่งเกิดจากการประกอบการสามารถแสดงค่าเป็นตัวเงินได้และจะให้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งนอกจากจะหมายรวมถึงรายการทรัพย์สินแล้ว ยังรวมรายจ่ายที่จ่ายไปและไม่มีสิทธิเรียกร้อง แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่กิจการยังมีอยู่  เช่น รายจ่ายรอตัดบัญชี

จำเรียง  จันทรประภา