ทฤษฎีระบบ

          หลายคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างว่า นักคิดนักวิชาการจำนวนมากกล่าวถึงทฤษฎีระบบอยู่เสมอ แต่ก็อาจจะไม่เข้าใจหรือเกิดความสับสนว่าหมายถึงอะไรแน่ วันนี้จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

          ทฤษฎีระบบ เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า systems theory พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง กระบวนทัศน์ที่เริ่มต้นจากความคิดเปรียบเทียบระบบสรีระของมนุษย์กับระบบสังคม และพยายามทำความเข้าใจแบบแผนหรือโครงสร้างของความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันระหว่างส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบ ทฤษฎีนี้จะวิเคราะห์กลไกที่ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของระบบสังคมดำเนินไปได้และคงอยู่ในสภาพสมดุล

          มโนทัศน์เรื่องระบบสังคมเริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยนักคิด เช่น เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer 1820-1903) และวิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็มีผู้ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเฮนเดอร์สัน คือ ทัลคอต พาร์สันส์ (Talcott Parsons 1902-1979) นำแนวคิดมาพัฒนาเป็นแนวความคิดคตินิยมโครงสร้างการหน้าที่ขึ้น ซึ่งเป็นการขยายความทฤษฎีระบบ และทำให้แนวความคิดนี้เด่นดังขึ้นมาในสังคมวิทยา

          พาร์สันส์อธิบายไว้ในผลงานเรื่อง The Social System (1951) ว่า ระบบสังคมใด ๆ ก็ตามจะเผชิญปัญหาสำคัญ ๒ ประการ ประการแรก เป็นปัญหาภายนอกที่เกี่ยวกับการผลิต และการจัดสรรทรัพยากรที่หายาก ประการที่ ๒ เป็นปัญหาภายในเกี่ยวกับความเป็นระเบียบและความเป็นปึกแผ่นของระบบสังคมนั้น พาร์สันส์ได้พัฒนาแบบจำลองระบบย่อย ๔ ด้าน ซึ่งตอบสนองต่อการหน้าที่ที่จำเป็นของระบบสังคม ได้แก่ (๑) การปรับตัว (adaptaion–A) (๒) การบรรลุเป้าหมาย (goal–attainment-G)  (๓) การบูรณาการ (integration–I) และ (๔) เงื่อนไขแฝงหรือการดำรงแบบแผน (latency or pattern–maintenance–L) ระบบย่อยทั้งสี่นี้ รวมเรียกตามอักษรย่อว่าแบบจำลอง AGIL ระบบย่อยเหล่านี้จะเชื่อมโยงระหว่างกันด้วยการไหลเวียนของ “ปัจจัยนำเข้า” (inputs) และ “ปัจจัยนำออก” (outputs) ซึ่งพาร์สันส์เรียกว่า “สื่อของการแลกเปลี่ยน” (media of exchange) สภาพสมดุลของระบบสังคมจะขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนอันซับซ้อนระหว่างระบบย่อยต่าง ๆ เหล่านี้

จินดารัตน์  โพธิ์นอก