ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory)

          เหตุการณ์ความวุ่นวายอันเกิดจากการที่ประชาชนในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย และล่าสุดคือ บัลแกเรีย รวมไปถึงประเทศสำคัญประเทศหนึ่ง คือ เยอรมนีตะวันออกได้รวมตัวกันเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้ปกครองประเทศเหล่านั้นมาเป็นระยะเวลายาวนานให้เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนองเลือดและสังหารผู้นำรัฐบาลในบางประเทศ  เหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้จะสามารถจัดเข้าเป็นทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) หรือไม่ คำตอบอยู่ในข้อเขียนของ ศ. ดร.ลิขิต ธีรเวคิน สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้

          ความหมายของทฤษฎีโดมิโน คือ ทฤษฎีที่ยกอุทาหรณ์จากเกมไพ่ต่อแต้ม ซึ่งถ้ามีไพ่ล้มหนึ่งใบ ไพ่ใบอื่น ๆ จะล้มเป็นแถบติดต่อเป็นลูกโซ่ เกิดจากความเชื่อถือที่ว่า เมื่อประเทศใดตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จะทำให้ประเทศอื่น ๆ กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย  นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีทฤษฎีต่อต้านทฤษฎีโดมิโน คือ ทฤษฎีการสกัดกั้น (Containment Policy)

          ทฤษฏีโดมิโนใช้กับกรณีการขยายตัวของลัทธิและระบอบคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชีย เมื่อจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามเหนือ ตกเป็นคอมมิวนิสต์ เชื่อว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ลาว เขมร ไทย มาเลเซีย ฯลฯ จะถูกครอบโดยระบบคอมมิวนิสต์ในที่สุด

          ในกรณีกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีโดมิโนแบบกลับตาลปัตร คือ แทนที่จะเป็นการล้มของระบอบประชาธิปไตยกลับเป็นการคลายตัวและแปรเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบพรรคเดียว คือ คอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมมาสู่การปกครองแบบหลายพรรค เช่นที่โปแลนด์ หรือการสลายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ฮังการี การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่โรมาเนีย รวมทั้งการมีท่าทีที่จะใช้ระบบหลายพรรคในสหภาพโซเวียต ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคงจะดำเนินไปโดยไม่มีหยุดยั้ง

          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่วิเคราะห์ว่าระบบคอมมิวนิสต์ในจีน ในสหภาพโซเวียตและในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกออกจะแปรเปลี่ยนเป็นทุนนิยมและประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ คงต้องเปิดช่องสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ที่หวังได้คือ การมีระบบผสมผสาน แต่ระบบเดิมคงเหลืออยู่เป็นฐาน ทฤษฎีโดมิโนเมื่อใช้ในกรณีกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกน่าจะถูกเพียงครึ่งเดียว ซึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับที่ใช้กับกลุ่มประเทศแถบเอเชีย.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๒