ทฤษฎี

ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์สาขาใดก็ตาม วิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ คือการใช้ทฤษฎีในการอธิบาย พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามว่า ทฤษฎี (theory) หมายถึง คำอธิบายที่เป็นนามธรรมของปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยปรกติประกอบด้วยชุดของนิยามและความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันในลักษณะที่ทำให้เกิดมโนทัศน์และเข้าใจปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ได้อย่างเป็นระบบ เช่น ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจมีความสัมพันธ์เชิงสถิติระหว่างความยากจนกับอาชญากรรม แต่การอธิบายว่าทั้ง ๒ สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร อาจต้องใช้ทฤษฎีมาอธิบาย เช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจ ทฤษฎีเกี่ยวกับความหมายทางสังคมของความยากจนและอาชญากรรม หรือทฤษฎีเกี่ยวกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างซึ่งทำให้คนบางกลุ่มจมปลักอยู่ในความยากจน  นักสังคมวิทยาใช้คำว่า “ทฤษฎี” ในความหมายหลายอย่าง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. ข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับสังคมและการจำแนกประเภททางสังคม ข้อสรุปและการจำแนกเช่นนั้นอาจใช้ได้ในขอบเขตที่แตกต่างกัน บางอย่างอาจใช้ได้กับปรากฏการณ์เฉพาะเรื่อง ขณะที่บางอย่างอาจเป็นข้อสรุปเชิงนามธรรม และเป็นคำอธิบายทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับสังคมและประวัติศาสตร์โดยรวม

๒. ข้อสรุปที่สามารถแปรออกมาเป็นข้อเสนอหรือสมมุติฐานที่สามารถทดสอบเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบได้ โดยนัยนี้ ตามตัวอย่างข้างต้นในเรื่องความยากจนและอาชญากรรมนั้น สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ว่า แรงจูงใจก็ดี ความหมายที่ให้แก่ความยากจนและอาชญากรรมก็ดี เป็นสาเหตุของอาชญากรรมได้อย่างไร

นอกจากนั้นยังมีความหมายอื่น ๆ อีก เช่น หมายถึง ข้อสรุปที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยบอกให้ทราบถึงกลไกเชิงเหตุและผล รวมทั้งกระบวนการของสิ่งต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง แต่ผลของมันก็เป็นที่ประจักษ์เช่น ทฤษฎีมากซ์ใช้ความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตกับความสัมพันธ์ของการผลิต (relations of production)  ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ เพื่ออธิบายการพัฒนาของการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งสามารถสังเกตได้.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก