ทอง

          ทองคำ ทรัพย์สินที่ใคร ๆ ก็อยากมีไว้ครอบครอง  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยาม ทองคำ ว่าเป็นธาตุลําดับที่ ๗๙ สัญลักษณ์ Au เป็นโลหะ ลักษณะเป็นของแข็งสีเหลือง หลอมละลายที่ ๑๐๖๓ºซ. เนื้ออ่อนมาก บุให้เป็นแผ่นจนมีความหนาน้อยกว่า ๐.๐๐๐๑ มิลลิเมตรได้ ใช้ทํารูปพรรณต่าง ๆ และทําเงินตรา ปัจจุบันกําหนดความบริสุทธิ์ของทองคําด้วยหน่วยกะรัต โดยกําหนดว่า ทองคํา ๒๔ กะรัตเป็นทองคําบริสุทธิ์ที่สุด โบราณกําหนดคุณภาพของเนื้อ ตั้งแต่เนื้อสี่ถึงเนื้อเก้า โดยตั้งพิกัดราคาตามเนื้อทอง เช่น ทองเนื้อหก คือ ทองหนัก ๑ บาท ราคา ๖ บาท ทองเนื้อเก้า คือ ทองหนัก ๑ บาท ราคา ๙ บาท (ประกาศ ร. ๔) ทองเนื้อเก้านี้เป็นทองแท้เป็นทองบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองธรรมชาติ ทองเนื้อแท้ ทองนพคุณ หรือบางทีเรียกว่า ทองชมพูนุท เช่นว่า ดังทองชมพูนุทเนื้อเก้า (สังข์ทอง ตอนตีคลี) ทองคำ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า gold

          ทองคำเปลว เป็นทองคําที่ตีแผ่ให้บางที่สุด ตัดใส่แผ่นกระดาษ ใช้สําหรับปิดบนสิ่งที่ลงรักเช่นพระพุทธรูป ทองเค ใช้เรียกทองคําที่มีเกณฑ์สําหรับวัดความบริสุทธิ์เป็นกะรัตว่า ทองเค ถ้ามีกะรัตตํ่ากว่า ๒๔ กะรัตลงมา จะมีโลหะอื่นเจือมากขึ้นตามส่วน เช่น ทองคํา ๑๔ กะรัต หมายถึงมีเนื้อทอง ๑๔ ส่วน มีโลหะอื่นปน ๑๐ ส่วน ทองนอก ก็เรียก ส่วนทองบรอนซ์ ทองสัมฤทธิ์ มาจากภาษาอังกฤษว่า bronze เป็นโลหะเจือชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทองแดงกับดีบุก ยังมีคำว่า สุวรรณ เหม  กนก มาศ อุไร ก็แปลว่าทองคำเช่นกัน

          มีสำนวนเรียกคนที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ไม่สะดุ้งสะเทือนว่า ทองไม่รู้ร้อน แต่เศรษฐกิจช่วงนี้ ทองได้ราคาดี ผู้เขียนไม่อาจทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนแล้ว ขอลาไปขายทองเส้นเท่าหนวดกุ้งก่อนนะคะ

รัตติกาล  ศรีอำไพ