ทักษากับการตั้งชื่อ

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยาม ทักษา  ว่า ใช้ในทางโหราศาสตร์ เรียกดาวพระเคราะห์เฉพาะ ๘ ดวง ประจำทิศต่าง ๆ ทั้ง ๘ โดยมีตัวเลขแทน เช่น เลข ๑ แทนอาทิตย์ ประจําทิศอีสาน เลข ๒ แทนจันทร์ ประจําทิศบูรพา เลข ๓ แทนอังคาร ประจําทิศอาคเนย์ ตามแผนภูมิ ( เขียนวันและตัวเลขไว้ด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจได้)

          ถ้าเกิดวันใด ก็ถือวันนั้นเป็นบริวาร การตั้งชื่อตามหลักทักษากำหนดพยัญชนะและสระเป็นบริวารของวัน ดังนี้  วันอาทิตย์  คือ สระทั้งหมด วันจันทร์ คือ ก ข ค ฆ ง อังคาร คือ จ ฉ ช ซ ฌ ญ  พุธ คือ ฎ ฎ ฐ ฑ ฒ ณ เสาร์ คือ ด ต ถ ท ธ น พฤหัสบดี คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ราหู คือ ย ร ล ว และ  ศุกร์ คือ ศ ษ ส ห ฬ ฮ ทั้งนี้ ราหู หมายถึง วันพุธกลางคืน 

          แล้วนับเวียนขวาไปตามทิศทั้ง ๘  ดังนี้ บริวาร -> อายุ -> เดช -> ศรี -> มูละ -> อุตสาหะ -> มนตรี -> กาลกรรณี หรือ กาลกิณี เช่น เกิดวันอาทิตย์ อาทิตย์เป็นบริวาร จันทร์เป็นอายุ อังคารเป็นเดช พุธเป็นศรี เสาร์เป็นมูละ พฤหัสบดีเป็นอุตสาหะ ราหูเป็นมนตรี และศุกร์เป็นกาลกิณี ซึ่งการตั้งชื่อนิยมใช้ อักษรเดชนำหน้าชื่อชาย ส่วนชื่อหญิงใช้อักษรศรีนำ ถ้าไม่ถือเรื่องนี้ ก็เน้นเฉพาะไม่เอาอักษรกาลกิณีมาตั้งชื่อ

          ตามที่อธิบายข้างต้น จะเห็นว่าหญิงที่เกิดวันอาทิตย์ มีพุธเป็นศรี ควรใช้ ฎ ฎ ฐ ฑ ฒ หรือ ณ นำหน้าชื่อ และ ห้ามใช้ ศ ษ ส ห ฬ ฮ เพราะศุกร์เป็นกาลกิณี

          นอกจากการตั้งชื่อตามหลักทักษานี้แล้ว ยังมีการตั้งชื่อตามหลักเลขศาสตร์อีก โดยที่พยัญชนะหรือสระแต่ละตัวจะมีค่าตัวเลขเฉพาะ ๑ – ๑๐ การตั้งชื่อจะตั้งให้ได้ค่าผลบวกรวมที่ดี เช่น ชัญญาณัฏฐ์ ผลรวมเป็น ๕๑ ตามตำราว่าดีค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ