ทำไมเบญจเพสต้องยี่สิบห้า

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามของเบญจ-เบญจะ ว่า เป็นคำวิเศษณ์ ที่มักใช้เป็นส่วนหน้าคำสมาส แปลว่า ห้า ลำดับที่ ๕  มาจากคำบาลีว่า ปฺจ สันสกฤตว่า ปฺจนฺ

          มีคำศัพท์น่าสนใจเกี่ยวกับเลข ๕ อีกมาก อาทิ เบญจกามคุณ หมายถึง เครื่องผูกอันบุคคลพึงใคร่ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่ถูกต้องด้วยกาย  เบญจรงค์ หมายถึง แม่สีทั้ง ๕ ได้แก่ ดํา แดง ขาว เขียว (คราม) เหลือง เรียกเครื่องถ้วยชามที่เขียนลวดลายด้วยแม่สีทั้ง ๕ ว่า ถ้วยเบญจรงค์ ชามเบญจรงค์   เบญจกูล หมายถึง เครื่องยา ๕ อย่าง คือ ขิง ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิง  เบญจขันธ์ หมายถึง กอง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เบญจธรรม หมายถึง ธรรมะ ๕ ประการ คือ เมตตา  ทาน ความสำรวมในกาม สัจจะ สติ คู่กับ เบญจศีล หมายถึง ศีล ๕  ได้แก่  ๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ ๕. งดเว้นจากการเสพสุราเมรัย  เบญจพล หมายถึง กําลัง ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  เบญจเพส หมายถึง ยี่สิบห้า เช่น อายุถึงเบญจเพส  เบญจภูต หมายถึง ธาตุทั้ง ๕ มี ดิน นํ้า ไฟ ลม อากาศ  เบญจโลหกะ หมายถึง แร่ทั้ง ๕ คือ ทองคํา เงิน ทองแดง ตะกั่ว ดีบุก  เบญจโลหะ หมายถึง โลหะ ๕ ชนิด คือ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน และทองคำ  เบญจพรรณ หมายถึง ๕ สี ๕ ชนิด; หลายอย่างคละกัน ไม่เป็นสํารับ ไม่เป็นชุด เช่น ของเบญจพรรณ เรียกต้นไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกันว่า ไม้เบญจพรรณ  เรียกป่าที่มีไม้หลายพรรณคละกันว่า ป่าเบญจพรรณ 

          แล้วทำไมเบญจเพสต้องยี่สิบห้าเท่านั้น ไม่ใช่ สิบห้า สามสิบห้า  สี่สิบห้า ทั้งนี้เพราะ เบญจเพส มาจากคำบาลีว่า  ปฺจวีส    ปฺจ แปลว่า ห้า ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ส่วน วีส วีสะ หรือ วีศ แปลว่า ยี่สิบ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ