ทีฆายุโก – ฑีฆายุโก ทีฆายุกา – ฑีฆายุกา

          เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ไม่ว่าจะเป็น ๕ ธันวาคม หรือ ๑๒ สิงหาคม ก็ตาม มักจะพบป้ายหรือข้อความถวายชัยมงคลว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา หรือ ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ตามสถานที่ราชการ หรือในหนังสือพิมพ์ ตลอดจนวารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือนอยู่ทั่วไป เขียนกันถูกบ้าง ผิดบ้าง นั่นคือคำว่า ทีฆายุโก หรือ ทีฆายุกา ซึ่งจะต้องใช้ นั้น บางทีก็ใช้ อยู่บ่อย ๆ

          คำว่า ทีฆายุโก เป็นภาษาบาลี ใช้ แปลว่า มีอายุยืน เมื่อรวมข้อความที่ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ตามตัวอักษรก็แปลว่า ขอพระมหาราชาจงทรงมีพระชนมายุยั่งยืนนาน แปลอย่างรวบรัดว่า ขอจงทรงพระเจริญ ที่ใช้ว่า ทีฆายุโก สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ทีฆายุกา สำหรับพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น เป็นการเปลี่ยนรูปตามไวยากรณ์ เพราะคำว่า มหาราชา เป็น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย จึงต้องใช้ ทีฆายุโก ส่วน มหาราชินี เป็น อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง จึงใช้ ทีฆายุกา

          เหตุที่บางคนเขียนเป็น ฑ นั้น คงเป็นเพราะตัว ฑ อยู่ใกล้กับ ฆ ซึ่งมีหัวหยัก เลยทำให้ ท มีหัวหยัก เลยกลายเป็น ฑ ตามไปด้วย

          คำในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีที่เดิมเป็น ท แล้วมีผู้เขียนเป็น ฑ ในสมัยก่อน ๆ นั้น มีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า ทูต  ซึ่งเป็นภาษาบาลี ใช้ ท ก็มีพบอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในหนังสือเก่าเขียนเป็น ฑูต  โดยใช้ ฑ หรือคำว่า มนเทียรบาล หนังสือเก่า ๆ เช่นในเรื่อง กฎมณเฑียรบาล  ก็ดี หรือ หมู่พระราชมณเฑียร  ก็ดี ที่คำว่า มณเฑียร  ก็ใช้ ฑ แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้เขียนเป็น มนเทียร  ใช้ ท เพราะคำนี้มาจากคำบาลีว่า มนฺทิร   ซึ่งแปลว่า เรือน  เมื่อแผลง อิ เป็น เอีย คำว่า มนฺทิร  จึงกลายเป็น มนเทียร  ทำนองเดียวกับแผลงคำว่า วชิร  เป็น วิเชียร หรือ พาหิร  เป็น พาเหียร   และ ปกีรณกะ  เป็น ปเกียรณกะ   ฉะนั้น

          จึงขอให้เขียนคำว่า ทีฆายุโก ให้ถูกต้อง ในฐานะที่เราเป็นประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงไม่ควรที่จะใช้ข้อความใด ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

          นอกจากนั้น ตามหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับ ก็มีทั้งคำว่า ทีฆายุโก และ ฑีฆายุโก ปะปนกันอยู่ในฉบับเดียวกัน จึงควรจะระมัดระวังให้มาก ความจริงก็มิได้ทำให้ความหมายเสียไป แต่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาเท่านั้นเอง เพราะคำว่า ฑีฆ  ในภาษาบาลีหรือสันสกฤตที่แปลว่า ยาว  นั้นไม่มี มีแต่ ทีฆ  เท่านั้น ความจริงเรื่องนี้ก็ได้มีผู้สอบถามมาอยู่เสมอ แต่การเขียนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีที่ผิด ๆ ให้เห็นอยู่ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม ยิ่งคำว่า ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี ด้วยแล้ว บางทีก็เขียนเป็น ทีฆายุโก โหตุ มหาราชินี และบางทีที่คำว่า “ทีฆายุโก” ใช้ ฑ แต่ในปัจจุบันการเขียนถูกต้องเกือบ ๑๐๐% แล้ว เพียงแต่คำว่า ทีฆายุโก และ ทีฆายุกา บางทียังใช้ ฑ แทน ท อยู่บ้างเท่านั้น จึงขอให้ช่วยกันระมัดระวังและเขียนให้ถูกต้องด้วย.

ผู้เขียน :  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ  ราชบัณฑิตประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา :  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙ สิงหาคม ๒๕๓๗