ทุนนิยม-สังคมนิยม

          ในสมัยหนึ่งที่โลกถูกปกคลุมไปด้วยสงครามเย็น ทำให้เกิดความแตกต่างกันทางระบบเศรษฐกิจและอุดมการณ์ทางการเมือง ฝ่ายที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมนั้นมุ่งที่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจของรัฐให้เป็นไปในแนวทางของ  ทุนนิยม (capitalism)  ส่วนอีกฟากหนึ่งของอุดมการณ์ก็แน่นอนว่าต้องมีความคิดที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ มุ่งที่จะใช้แนวทางของระบบสังคมนิยมในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายความหมายของระบบเศรษฐกิจทั้งสองไว้ดังนี้

          ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (capitalism) หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เอกชนมีบทบาทสำคัญในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และเป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ  ในระบบทุนนิยม เอกชนหรือองค์การธุรกิจสามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีโดยที่รัฐไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงาน  ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะขับเคลื่อนโดยการแข่งขันภายใต้กลไกตลาดและมีกำไรเป็นสิ่งจูงใจให้ผลิตสินค้าและบริการ

          ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialism) นั้นหมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่เป็นของส่วนรวมหรือรัฐบาล เอกชนไม่มีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลางหรือรัฐบาล   สังคมนิยมมีหลายรูปแบบ แบบที่รัฐบาลมีบทบาททางเศรษฐกิจมากเรียกว่า สังคมนิยมรัฐ (state socialism) เช่น คิวบา เกาหลีเหนือ บางประเทศนำแนวคิดด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้เป็นสังคมนิยมแบบตลาด เช่น จีน อย่างไรก็ตาม สังคมนิยมทุกรูปแบบมีเป้าหมายเหมือนกันคือ ให้มีการกระจายรายได้เพื่อขจัดความยากจน คนในสังคมมีความเสมอภาค ไม่แบ่งชนชั้น และได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็เป็นความคาดหวังที่ไม่ว่าอุดมการณ์ใด ๆ อยากให้เกิดขึ้น และเราทุกคนก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

      จินดารัตน์  โพธิ์นอก