ทุนสังคม

          ครั้งก่อนเคยเล่าถึงทุนนิยมกับสังคมนิยมไปแล้ว  วันนี้ก็มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจจึงอยากนำมาแบ่งปันกับผู้อ่านคอลัมน์องค์ความรู้ภาษาไทยด้วย คำนั้นก็คือ ทุนสังคม

          ตามพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เก็บคำ  social capital  ไว้ และบัญญัติศัพท์ว่า  ทุนสังคม หมายถึง ทรัพย์สินและความชำนาญหรือภูมิปัญญาของสังคมทั้งหมดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตในสังคม ซึ่งครอบคลุมทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์โรงงาน และทรัพย์สินที่สร้างผลผลิตให้แก่สังคมโดยอ้อม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สนามบิน ถนน  ในทางสังคมศาสตร์ ทุนสังคมมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น คน สถาบัน วัฒนธรรม องค์ความรู้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของสังคม สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดแก่สังคม ทุนสังคมสามารถสะสมและพัฒนาต่อยอดได้ ความสำคัญของทุนสังคมเป็นที่ยอมรับขององค์การพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ต่างก็ตระหนักในคุณค่าของทุนสังคมว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน อันนำไปสู่ความผาสุกของคนในชาติ เช่น ในสังคมเกษตรกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในช่วงเวลาเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว ได้เกิดความร่วมมือกันที่เรียกว่า การลงแขก ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมด้วย การลงแขกจึงถือว่าเป็นทุนสังคมอย่างหนึ่ง

          นอกจากนี้ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่แม้ว่าจะมีศัพท์บัญญัติใกล้เคียงกัน แต่มีความหมายต่างกัน คือคำว่า social cost  หรือ ต้นทุนสังคม หมายถึง ต้นทุนหรือความเสียหายที่สังคมโดยส่วนรวมได้รับจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ในการผลิตสินค้าเมื่อโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง การปล่อยน้ำเสียดังกล่าวทำให้ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวถือเป็นต้นทุนสังคม

         จินดารัตน์  โพธิ์นอก