ธงจระเข้

          อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี  ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญตักบาตรเทโวหรือที่มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ตักบาตรเทโวโรหณ (อ่านว่า-โร-หะ-นะ)  หลังวันออกพรรษาก็จะเป็นช่วงเวลาของการทอดกฐิน  ซึ่งในพิธีทอดกฐินจะใช้ธงแบบหนึ่งนำขบวนแห่ ธงดังกล่าวคือ ธงจระเข้

          ธงจระเข้เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ  ๒ ศอก กว้าง ๑ ศอก ปลายทั้ง ๒ ข้างเย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้ท่อนกลมโตขนาดนิ้วก้อยยาวกว่าความกว้างของผืนธงออกมาข้างละ ๑ นิ้ว สำหรับผูกแขวนธงตอนบนข้างหนึ่ง กับใช้ถ่วงชายธงตอนล่างอีกข้างหนึ่ง  ในผืนธงเขียนเป็นรูปจระเข้ตามยาวของผืนผ้า เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดไปทางปลายธง ปากคาบดอกบัว ๓ ดอก  ธงจระเข้นี้ทำขึ้นตามคติความเชื่อหลายนัยด้วยกัน คือ

          ความเชื่อที่ ๑. ในสมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยใช้เรือเป็นพาหนะ  การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง  คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ อย่างจระเข้ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในกระบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา

          ความเชื่อที่ ๒. เนื่องจากถือกันว่า ดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญ การเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้น ซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว การทอดกฐินเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ไพศาล เพราะทำในเวลาจำกัด  มีความสำคัญเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพ  แต่เดิมผู้จะไปทอดกฐินต้องเตรียมเครื่องบริขารและผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้น ไปสว่างเอาที่วัด  ต่อมาจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้โดยถือว่า ดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน (มีต่อ)

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์