ธงมัจฉา

          เมื่อตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องถึงการทอดกฐินหลังวันออกพรรษา จะมีธงรูปจระเข้นำขบวนแห่เสมอ โดยได้กล่าวถึงที่มาของธงดังกล่าวตามความเชื่อไปแล้ว ๒ อย่าง  จึงขอกล่าวถึงเป็นความเชื่อเรื่องต่อไป

          ความเชื่อที่ ๓. มีเรื่องเล่าว่า มีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือ มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญในการทอดกฐิน จึงว่ายน้ำตามเรืออุบาสกนั้นไปด้วย แต่ไปได้พักหนึ่งจึงบอกแก่อุบาสกนั้นว่า ตนตามไปด้วยไม่ได้แล้ว เพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธง แล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดด้วย  อุบาสกรับคำจระเข้ แล้วทำธงติดไว้ที่วัดตามที่จระเข้ขอร้อง  ตั้งแต่นั้นมา จึงปรากฏธงรูปจระเข้ตามวัดต่าง ๆ ในเวลาที่มีการทอดกฐิน

          นอกจากความเชื่อทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว ยังมีข้อความในจาตุมสูตรตอนหนึ่ง แสดงภัยที่จะเกิดกับพระไว้ ๔ อย่างด้วยกัน ซึ่งเปรียบได้กับภัยที่เกิดแก่บุคคลที่ลงในแม่น้ำหรือทะเลคือ

          ๑. ภัยซึ่งเกิดแต่ความอดทนต่อโอวาทคำสอนมิได้ ท่านเปรียบเสมือนคลื่น เรียกว่า อุมฺมิภยํ

          ๒. ภัยซึ่งเกิดแต่การเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากมิได้ ท่านเปรียบเสมือนจระเข้ เรียกว่า กุมฺภีลภยํ

          ๓. ภัยซึ่งเกิดแต่ความยินดีในกามคุณ ๕ ท่านเปรียบเสมือนวังน้ำวน เรียกว่า อาวฏฺฏภยํ

          ๔. ภัยซึ่งเกิดแต่การรักผู้หญิง ท่านเปรียบเสมือนปลาร้าย เรียกว่า สุสุกาภยํ

          เมื่อพิจารณาดูรูปธงจระเข้ที่ช่างประดิษฐ์ขึ้น จะเห็นว่ามีภัย ๔ อย่างนี้อยู่ครบ ต่างแต่ว่ามีความเด่นมาก เด่นน้อย หรือเป็นเพียงแทรกอยู่ในความหมาย  ที่เด่นมากคือ รูปจระเข้ รองลงไปคือ รูปคลื่น ส่วนอีก ๒ อย่างคือ รูปวังน้ำวน และปลาร้าย ที่เขียนเป็นรูปน้ำ  แต่มีบางรายจะเพิ่มธงปลาร้ายในเวลาที่มีการทอดกฐินขึ้นอีกธงหนึ่ง เรียกว่า “ธงมัจฉา

          ธงรูปจระเข้หรือธงรูปมัจฉานี้ มักปักไว้ที่หน้าวัด เพื่อแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้มีการทอดกฐินแล้ว ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้พลอยอนุโมทนาด้วย

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์