“ธุระ” ในพระพุทธศาสนา

        คำว่า ธุระ ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ความหมายหนึ่งหมายถึง หน้าที่การงานที่พึงกระทำ หน้าที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป และไม่ใช่เพียงฆราวาสเท่านั้น พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเช่นกัน ความหมายที่ ๒ ของคำว่า ธุระ จึงหมายถึง กิจในพระศาสนา ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน และการปฏิบัติทางใจ นอกจากนี้คำว่า ธุระ ยังเป็นภาษาปาก ใช้ในความหมายว่า เรื่องส่วนตัว ด้วย

       ในทางพระพุทธศาสนา คำว่า ธุระ แปลว่า สิ่งที่จะต้องแบกรับ ถ้าเป็นสิ่งของ หมายถึง แอกเกวียน หรือแอกรถเทียมม้าสมัยโบราณ ถ้าเป็นในด้านการงาน หมายถึง หน้าที่ ภารกิจ การงาน เรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ คำว่า ธุระ ในความหมายนี้ ทางพระพุทธศาสนานำมาใช้ใน ๒ กรณี กรณีแรกเป็นภารกิจที่เกี่ยวกับคัมภีร์ เรียกว่า คันถธุระ หมายถึง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ซึ่งก็คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา รวมทั้งความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ส่วนกรณีที่ ๒ เป็นภารกิจเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาธุระ หมายถึง การฝึกจิตตามหลักสมถะและวิปัสสนา

       บางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่มีคำว่า สมถะ รวมอยู่ใน วิปัสสนาธุระ ด้วย ทั้งที่ วิปัสสนาธุระ ก็หมายรวมถึงการเจริญสมถะ พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า คงเป็นเพราะทางพระพุทธศาสนาถือว่าทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา ต่างเกื้อหนุนกัน แต่วิปัสสนาเป็นวิธีปฏิบัติขั้นให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามนามรูปตามความเป็นจริง อันเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคญาณและผลญาณต่อไปตามลำดับ เมื่อ วิปัสสนา เป็นวิธีปฏิบัติที่รวม สมถะ ไว้ด้วยแล้ว จึงใช้ว่า วิปัสสนาธุระ เป็นคำรวม

       ในคัมภีร์อรรถกถามีทั้ง คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระอรรถกถาจารย์พยายามที่จะประมวลภารกิจทุกอย่างในพระพุทธศาสนาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน.

อารยา ถิรมงคลจิต