ธูป

          “ธูป” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมานานและมีความสำคัญในสังคมไทยอย่างยิ่ง  คำว่า “ธูป” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า เครื่องหอมชนิดหนึ่งมีแกนทําด้วยก้านไม้ไผ่เล็ก ๆ เป็นต้นย้อมสีแดง พอกด้วยผงไม้หอม มักใช้จุดคู่กับเทียน ใช้ลักษณนามว่า ดอก 

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๑๕ อธิบายถึงที่มาของคำว่า ธูป ว่าเป็นคำสันสกฤตและบาลี แปลว่า กลิ่นหอม เครื่องหอม วิธีที่จะให้ส่งกลิ่นหอม ในชั้นเดิมคงใช้กองไฟก่อเอาดื้อ ๆ แล้วเอาไม้หอมเครื่องหอมใส่และโรยลงไป  เพื่อเผาให้กลิ่นกระจายขึ้น  ต่อมา จึงรู้จักภาชนะใช้สำหรับรองรับไฟ เช่น ตะคันเผาธูป เพราะสะดวกต่อการยกไปไหนมาไหน  ชาวอียิปต์ ชาวยิวและชาวกรีกใช้อยู่ในลัทธิพิธีบูชามาแต่ดึกดำบรรพ์  และยังคงใช้ในหมู่แขก หมู่ฝรั่งมาจนทุกวันนี้ ส่วนธูปที่เป็นก้านเล็ก ๆ อย่างที่เห็นกันอยู่เป็นของที่คิดขึ้นใหม่  แต่คงเป็นวิธีของชาวตะวันออกเช่น จีน มากกว่า เพราะไม่เคยเห็นแขกเห็นฝรั่งใช้ธูปเป็นปรกติ  คำว่า “ธูป” ในภาษาอังกฤษเรียก joss stick ซึ่งแปลว่า ไม้หอมสำหรับเจ้าผี หรือ incense stick แปลว่า ไม้หอมหรือไม้ธูป แสดงว่าเป็นคำผสมขึ้นใหม่ คำฟ้องอยู่ในตัวว่า ฝรั่งไม่มีธูปใช้มาแต่เดิม แม้คำว่าธูปที่นำมาใช้เป็นคำไทยนั้น คำเดิมในภาษาสันสกฤตและบาลี ก็หมายความเพียงอายหอมหรือกลิ่นหอม ด้วยเหตุนี้ หม้อไฟที่ใช้สำหรับเผายางหอมไม้หอม จึงเรียกว่า ธูปบาตร  เราได้คำธูปมาเป็นภาษาของเราแต่เราใช้จุดไม้ธูป ไม่ได้ใช้หม้อเผาธูป แสดงว่าเราไม่ได้ใช้ธูปมาก่อน  จึงไม่มีคำนี้ใช้ในภาษาเดิมของเรา  ถ้าจะได้ไม้ธูปมาใช้ก็คงได้มาจากจีน

          ธูปนอกจากจะใช้บูชาคู่กับเทียนแล้ว ในการปฏิบัติตามลัทธิศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ  ยังต้องใช้ดอกไม้เป็นเครื่องบูชาร่วมด้วย รวมความได้ว่า ธูปเป็นสิ่งหอม เทียนเป็นสิ่งสว่าง ดอกไม้เป็นสิ่งงาม ล้วนเป็นสิ่งดี ๆ ทั้งสิ้น จึงได้ใช้ของ ๓ สิ่งนี้เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ตนเคารพนับถือ ในทางศาสนาพุทธใช้ธูป ๓ ดอก  เป็นสัญลักษณ์บูชาพระคุณทั้งสามของพระพุทธเจ้าคือ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ.

         อิสริยา เลาหตีรานนท์