นายขนมต้ม

          ชื่อเสียงของ “นายขนมต้ม” เป็นที่รู้จักกันมาเป็นเวลาช้านานจนมีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับนายขนมต้มมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และแต่งเป็นบทเพลง   สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึง “นายขนมต้ม” ไว้ว่า 

          นายขนมต้มเป็นชื่อชายไทยคนหนึ่งในจำนวนคนไทยที่ถูกกองทัพพม่ากวาดต้อนไปพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐  มีปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและพระราชพงศาวดารพม่าว่า นายขนมต้มเป็นผู้มีความชำนาญในด้านศิลปะมวยไทยและได้มีโอกาสแสดงความชำนาญนั้นจนสามารถปราบนักมวยพม่าและมอญได้ถึง ๑๐ คน ต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ พระเจ้ามังระโปรดให้ประกอบพระราชพิธียกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์ชะเวดากอง   ณ เมืองย่างกุ้ง ในการนี้ ได้โปรดให้มีงานเฉลิมฉลองสมโภชพระเกศธาตุและให้มีการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ  รวมทั้งการชกมวยหน้าพระที่นั่งด้วย  เมื่อทรงทราบจากขุนนางว่า “คนมวยเมืองไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” จึงรับสั่งให้จัดหามา   พวกขุนนางได้นำตัวนายขนมต้มมาถวาย  พระเจ้ามังระรับสั่งให้จัดนักมวยพม่ามาเปรียบและให้ชกกับนายขนมต้ม ปรากฏว่า นายขนมต้มไล่ต่อยนักมวยพม่าพ่ายแพ้ไปยังไม่ทันถึงยก  จากนั้นฝ่ายจัดการชกมวยได้จัดหานักมวยพม่าและนักมวยมอญมาชกกับนายขนมต้มอีก ๙ คน  ก็พ่ายแพ้แก่นายขนมต้มทั้งสิ้น  พระเจ้ามังระพอพระทัยมากถึงขนาดตรัสสรรเสริญฝีมือของนายขนมต้ม  แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มอย่างสมเกียรติ

          หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น พระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้กล่าวถึงนายขนมต้มอีกเลย  แต่เกียรติประวัติของนายขนมต้มเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว จนได้รับการยกย่องในวงการมวยไทยสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์