นาฬิกา

          สิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่ใช้วัดเวลา หรือ บอกเวลา ณ ขณะใดขณะหนึ่งได้ตามความต้องการ  แทนการสังเกตปรากฏการณ์ของธรรมชาติ คือ นาฬิกา  ทราบไหมคะว่านาฬิกาที่เราใช้บอกเวลานั้นมีความเป็นมาอย่างไร  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๕  มีคำตอบค่ะ

          เชื่อกันว่าชาวอียิปต์ได้ริเริ่มประดิษฐ์นาฬิกาแดด โดยสังเกตจากเงาของแสงแดด  นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาทรายและนาฬิกาน้ำที่อาศัยอัตราการไหลของทรายหรือน้ำผ่านรูรั่วบอกเวลา  ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์นาฬิกาที่มีกลไกแทน  แต่ต้นตอของนาฬิกาแบบนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด  นาฬิกาชนิดที่อาศัยตัวจักรฟันเฟืองและเก่าแก่มาก ยังเก็บรักษาอยู่ที่โบสถ์ซอลส์เบอรี (Salisbury) ประเทศอังกฤษ

          ระยะหลังนาฬิกาประเภทที่ใช้ตัวจักรและฟันเฟือง อาศัยการควบคุมเวลาโดยการแกว่งของลูกตุ้ม กาลิเลโอ (Galileo) เป็นผู้พบว่า การแกว่งของลูกตุ้มที่มีช่วงของการแกว่งแคบ ๆ จะมีเวลาแกว่งครบรอบเท่ากันเสมอ  จึงนำมาใช้กับนาฬิกาเพื่อควบคุมเวลาให้เที่ยงตรง และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะนาฬิกาเรือนใหญ่ที่ใช้แขวนตามอาคารบ้านเรือน   นาฬิกาที่มีลูกตุ้มนี้หากต้องการจังหวะแกว่งของลูกตุ้มเป็นวินาที จะมีความยาวของลูกตุ้มประมาณ ๙๙ มิลลิเมตร และถ้าความยาวคลาดเคลื่อนไปเพียง ๐.๐๒๕๔ มิลลิเมตร ก็จะทำให้เวลาคลาดเคลื่อนไปได้วันละวินาที ความยาวของลูกตุ้มจึงมีความสำคัญต่อการควบคุมเวลาของนาฬิกาแบบนี้อย่างยิ่ง

          นาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงขึ้นไปอีก  อาศัยหลักการสั่นของส้อมเสียงหรือการกวัดแกว่งที่เกิดขึ้นภายในผลึกของแร่เขี้ยวหนุมาน (แร่ควอตซ์)  การกวัดแกว่งภายในผลึกของแร่นี้มีความถี่สูงมาก นับเป็นแสนครั้งต่อวินาที จึงให้ความเที่ยงตรงยิ่ง จะมีความคลาดเคลื่อนเพียงหนึ่งวินาทีต่อระยะเวลา ๑๐ ปี นาฬิกาแบบนี้เป็นที่รู้จักกันว่านาฬิกาผลึก (Crystal clock)

          มนุษย์เราประดิษฐ์นาฬิกาโดยมุ่งหวังให้บอกเวลาที่แม่นยำและเที่ยงตรงที่สุด ดังนั้นในการนัดหมายเวลาทุกครั้งมนุษย์เราก็ควรจะตรงต่อเวลาเหมือนนาฬิกาด้วยจริงไหมคะ.

       กนกวรรณ  ทองตะโก