นิยัตินิยม      

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า นิยัตินิยม, คติตัวกำหนด (determinism) หมายถึง แนวคิดที่ว่าพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปเพราะมีสิ่งอื่นเป็นตัวกำหนด เช่น ถ้ามีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางเทคโนโลยี (technological determinism)  ถ้ามีลักษณะทางชีววิทยาหรือทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางชีววิทยา (biological determinism)  ถ้ามีเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ (economic determinism)  ซึ่งพจนานุกรมฉบับดังกล่าว อธิบายว่า คติตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ (economic determinism) หมายถึง แนวคิดที่ว่าปรากฏการณ์ทางสังคมมีรากเหง้าอยู่ที่ความสัมพันธ์ในการผลิต เป็นจุดยืนทางปรัชญาหรือทฤษฎีของสำนักมาร์กซิสต์

ตามทัศนะของคาร์ล มากซ์  (Karl  Marx)  ความสัมพันธ์แห่งการผลิตเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบรรดาโครงสร้างส่วนบนตั้งอยู่ เช่น กฎหมายและการเมืองตั้งอยู่ โครงสร้างพื้นฐานนี้ยังเป็นตัวก่อรูปก่อร่างแก่ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชั้นชนขึ้น ผลที่ติดตามมาคือทำให้เกิดสำนึกทางสังคมที่สอดคล้องกันตามชั้นชนทางเศรษฐกิจเป็นชั้น ๆ ไป  ดังนั้น มากซ์จึงเขียนไว้ว่า วิถีการผลิตในชีวิตด้านวัตถุเป็นเงื่อนไขแก่กระบวนการชีวิตในด้านสังคม การเมือง และด้านความคิดโดยทั่วไป   ข้อเสนอเช่นนี้เป็นที่มาของการถกเถียงเรื่องการกำหนดโดยเศรษฐกิจ  หรือน้ำหนักมากน้อยของปัจจัยทางเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ชีวิตทางสังคม การเมือง และสำนึกทางสังคมของบุคคล  ถูกกำหนดจากฐานะของคนคนนั้นในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ   ทัศนะดังกล่าวท้าทายต่อหลักการแห่งเจตจำนงเสรีและความเป็นตัวเองของบุคคล  ดังนั้น จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก   ในอีกแง่หนึ่ง อาจพิจารณาว่าความสัมพันธ์ในการผลิตเป็นเพียงปัจจัยที่เป็นตัวจำกัดหรือเป็นเพียงเงื่อนไขกว้าง ๆ ในพัฒนาการของโครงสร้างส่วนบน  ภายหลังจากมรณกรรมของมากซ์ประเด็นนี้ได้รับการอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมิได้มีผลกำหนดโดยตรงอย่างอัตโนมัติต่อความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใดเพียงแต่มีอิทธิพลอย่างสำคัญ  ซึ่งประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงคือ เรื่องความคิดและศักยภาพที่ปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นอิสรชนจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เพียงใด.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก