นิรโทษกรรม

          “ส่วนกรณีนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมาย ตนได้แสดงความเห็นว่า ไม่ควรจะมีเรื่องของนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคยพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลมี ๓ ส่วนคือ การทำผิดให้เป็นถูก เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน หรือทำแล้วทำให้สังคมขัดแย้ง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยดีขึ้น ตนก็เอาด้วย”  ข้อความข้างต้นจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ท่านนายกรัฐมนตรี ชี้แจงได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการนิรโทษกรรม ผู้เขียนไม่ขอวิพากษ์ เพราะถ้าทำโดยยึดถือความถูกต้อง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เพื่อตนเองและพวกพ้องแล้ว ย่อมต้องดีเสมอ

          ส่วนคำ นิรโทษกรรม ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  นั้นเป็นคำนาม อ่านว่า นิ-ระ-โทด-สะ-กํา นิยามไว้ว่า ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย; ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทําความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทํามาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด มาจากคำว่านิรโทษ แปลว่าไม่มีโทษ  รวมกับคำ กรรม ซึ่งแปลว่า   การ การกระทำ การงาน กิจ

          นิร–  เป็นคําที่ใช้ประกอบหน้าคําอื่น แปลว่า ไม่ ไม่มี ออก เช่น  คำว่า นิรคุณ  แปลว่าไม่มีลักษณะดี ไม่มีคุณ เลว ชั่วร้าย; เนรคุณ ไม่รู้คุณ  นิรโฆษ แปลว่า ไม่มีเสียง เงียบ สงบ สงัด   นิรทุกข์  แปลว่าไม่มีทุกข์     นิรภัย  แปลว่าไม่มีภัย แคล้วคลาดจากภัยอันตราย    นิรมล  ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ผ่องใส; โดยปริยายหมายความว่า หญิงสวย หญิงงาม ค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ