นิเวศวิทยาเมือง

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า นิเวศวิทยาเมือง (urban ecology) หมายถึง แนวความคิดของนักสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยชิคาโก  (Chicago School)  ช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ที่นำหลักชีววิทยามาใช้อธิบาย “การแบ่งสรรด้านพื้นที่” (spatial distribution) ของประชากรในเมือง โดยถือว่าเป็นผลของกระบวนการแข่งขันเชิงชีวภาพ (biotic competition) เพื่อความได้เปรียบทางด้านดินแดน (territorial advantage) ของประชากรกลุ่มต่าง ๆ  ซึ่งแต่ละอาณาเขตมีรากฐานมาจากพื้นฐานทางสังคมอย่างเดียวกัน เช่น ชั้นชนหรือชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มจึงเป็นเจ้าของ “ย่าน” (neighborhoods) หรือที่นักสังคมวิทยาแนวนี้เรียกว่า “บริเวณธรรมชาติ” (natural area) ที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง แนวความคิดนี้เห็นว่ากลุ่มมนุษย์ เช่น กลุ่มสีผิวหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างแข่งขันกันครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพยากรที่หายากในเขตเมือง เช่นเดียวกับหลักการทางชีววิทยาเกี่ยวกับการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดของผู้เหมาะสมที่สุด กลุ่มที่ปรับตัวได้ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดจะเป็นผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยในที่ดินบริเวณหนึ่ง การแข่งขันจะผลักดันให้สังคมมีการแบ่งงานกันทำเพิ่มมากขึ้น และทำให้กลุ่มสังคมมีความสามารถในการปรับตัวสูงขึ้น

นักนิเวศวิทยาเมืองได้นำเอามโนทัศน์ทางนิเวศวิทยา เช่น การรุกราน (invasion) การมีอิทธิพลเหนือ (domination) และการสืบทอด (succession) มาใช้พรรณนาขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างที่กลุ่มต่าง ๆ เปลี่ยนย้ายถิ่นที่อยู่ของตนจากแรงกดดันอันสืบเนื่องมาจากการแข่งขัน   อย่างไรก็ดี การแข่งขันระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีขอบเขตจำกัดเป็นอุปสรรคต่อการจัดระเบียบทางสังคม  ดังนั้น จึงต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมระดับสอง  คือ วัฒนธรรม เพื่อจำกัดขอบเขตการแข่งขันด้านพื้นที่ กระบวนการจัดระเบียบทางสังคมระดับนี้ ได้แก่ การสื่อสาร ความสมานฉันท์ และความร่วมมือ  ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งในระดับจุลภาค คือบริเวณธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มที่มีลักษณะทางสังคมเป็นแบบเดียวกัน และในระดับมหภาคหรือมหานครโดยรวม โดยมีกลไกที่ใช้ในการบูรณาการ เช่น วัฒนธรรมมวลชน สื่อ และการเมือง.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก