บังสุกุล

          บังสุกุลจีวร นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ประเภทเครื่องนุ่งห่มที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกถือปฏิบัติได้ตามวิถีชีวิตนักบวช  บังสุกุลจีวรหมายถึงผ้าชนิดใด  และมีลักษณะอย่างไร  พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ในคำ  (ปังสุกูล บังสุกุล) ว่า

          ปังสุกูลหรือบังสุกุล ตามรูปศัพท์แปลว่า เหมือนกองฝุ่น หรือถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่นเพราะเปื้อนฝุ่น หมายถึง ผ้าที่นักบวชในอินเดียโบราณใช้นุ่งห่ม   คำว่า เหมือนกองฝุ่น เพราะมีลักษณะสูงเนื่องจากวางอยู่เหนือฝุ่นตามที่ต่าง ๆ  คำว่า ถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่น เพราะฝุ่นเป็นของสกปรกจึงน่าเกลียด ฉะนั้น ผ้าที่มีลักษณะดังกล่าว จึงเป็นของสกปรกและน่าเกลียดไปด้วย

          ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงผ้าบังสุกุลไว้หลายชนิด เช่น ผ้าที่ทิ้งไว้ไว้ตามป่าช้า ผ้าที่ทิ้งไว้ตามตลาด ผ้าที่ทิ้งไว้ตามถนน ผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ผ้ามงคลที่ใช้เช็ดครรภมลทินเวลาหญิงคลอดลูกแล้วทิ้ง ผ้าที่หมอผีให้ใช้คลุมศีรษะอาบน้ำในพิธีไล่ผี ผ้าที่ทิ้งไว้ตามท่าน้ำ ผ้าที่คนนุ่งห่มไปป่าช้ากลับมาแล้วทิ้ง ผ้าที่บางส่วนถูกไฟไหม้ ผ้าที่วัวกัดกิน ผ้าที่หนูแทะ ผ้าที่ปลวกแทะ ผ้าที่ขาดด้านใน ผ้าที่ชายขาด ผ้าที่ใช้เป็นธงเวลาขึ้นเรือและทิ้งเมื่อเรือออก ผ้าที่ใช้ห่มจอมปลวกทำพลีกรรม ผ้าที่ภิกษุใช้แล้วทิ้ง ผ้าที่ทิ้งไว้หลังจากเสร็จพิธีถวายน้ำมุรธาภิเษก ผ้าที่เกิดจากฤทธิ์ ผ้าที่ตกอยู่กลางทาง ผ้าที่ลมพัดไปตก ผ้าที่เทวดาถวาย ผ้าที่ถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง   พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคยหาและใช้ผ้าบังสุกุลจีวร ดังมีเรื่องเล่าว่า พระองค์ทรงนำผ้าห่อศพของทาสีนางหนึ่งมาทำเป็นจีวร ผ้าห่อศพนั้นเต็มไปด้วยน้ำเหลือง มีหนอนไต่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมดน่ารังเกียจ แต่พระองค์ก็ทรงนำมาซักและใช้เป็นจีวรโดยไม่รังเกียจ

          ในประเทศไทยจะออกเสียง บังสุกุล เป็น บังสกุล ซึ่งเป็นภาษาปาก  ในปัจจุบันนำมาปรับใช้ในพิธีทอดผ้าป่า เช่น พิธีทอดผ้าป่ารีไซเคิล และในงานศพ.

 กนกวรรณ  ทองตะโก