บัว ๔ เหล่า

          ในพระพุทธศาสนานั้น  พระพุทธเจ้าทรงนำดอกบัวมาเป็นข้อเปรียบเทียบกับสัตว์โลกที่พระองค์จะแสดงธรรมโปรดว่ามี  ๓ ประเภท จะได้แก่ประเภทใดบ้างนั้น พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๓ อธิบายไว้ว่า

          ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีการใช้อุปปละหรืออุบลร่วมกับปทุมะและปุณฑรีกะเป็นครั้งแรกตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกก่อนตัดสินพระทัยรับคำพรหมอาราธนาให้แสดงธรรมโปรดสัตว์โลก ซึ่งพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงนำดอกบัวมาเป็นข้อเปรียบเทียบกับสัตว์โลกที่พระองค์จะแสดงธรรมโปรดว่ามี ๓ ประเภท เหมือนดอกบัว โดยทรงพิจารณาถึงอินทรียธรรม (คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) เป็นหลัก  บัว ๓ ประเภท คือ ๑. บัวประเภทโผล่พ้นน้ำแล้วพร้อมจะบานทันทีที่ได้แสงอาทิตย์  ๒. บัวประเภทยังเสมอน้ำจะโผล่พ้นน้ำในวันรุ่งขึ้นและบานทันทีเมื่อได้แสงอาทิตย์ และ ๓. บัวประเภทอยู่ใต้น้ำ จะโผล่พ้นน้ำในวันต่อ ๆ ไป และบานทันทีเช่นเดียวกับ ๒ ประเภทแรก เมื่อได้แสงอาทิตย์

          ต่อมา พระอรรถกถาจารย์ได้นำพระพุทธพจน์นี้มาศึกษาต่อและอธิบายบัวประเภทที่ ๓ เพิ่มเติมว่า มีบางดอกที่เป็นโรค ไม่มีทางจะงอกงามขึ้นโผล่พ้นน้ำก็จะกลายเป็นอาหารของปลาและเต่า และแนวคิดนี้เป็นทางนำไปสู่การแบ่งบัวออกเป็น ๔ ประเภท ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ใช้คำพูดว่า “จตุพฺพิธานิ ปุปฺผานิ” (ดอกไม้ ๔ ประเภท) แล้วนำมาเปรียบเทียบกับบุคคลที่จะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าซึ่งทรงแสดงไว้ใน จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย และในอภิธรรมปิฎก ปุคคลปัญญัตติ ว่า มี ๔ ประเภท คือ ๑. บุคคลผู้รู้ธรรมได้เร็ว หมายถึง บุคคลที่เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงก็บรรลุธรรมรู้แจ้งได้ทันที  ๒. บุคคลผู้รู้ธรรมแบบสะสม หมายถึง บุคคลที่ฟังพระพุทธเจ้าอธิบาย ขยายความจึงบรรลุธรรมรู้แจ้งได้ ๓. บุคคลที่สามารถแนะนำได้ หมายถึง บุคคลที่ฟังธรรมพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วต้องใช้เวลา ศึกษาใคร่ครวญและฟังครูอาจารย์อธิบายขยายความเพิ่มเติมจึงบรรลุธรรมรู้แจ้งได้  ๔. บุคคลผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง หมายถึง บุคคลที่ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วแต่ ไม่สามารถบรรลุธรรมรู้แจ้งได้ในชาตินั้น สำเร็จประโยชน์เพียงแค่ได้สะสมเป็นวาสนาบารมีเพื่อบรรลุธรรมในชาติต่อ ๆ ไป.

         กนกวรรณ  ทองตะโก